ไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก มฤตยูดำที่หวนกลับมาอีกครั้ง

25 February 2016
4681 view

ไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก

โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal disease) เป็นได้กับคนทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี

ไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก มีสาเหตุเกิดจาก

โรคไข้กาฬหลังแอ่นนี้ เกิดจากจากเชื้อแบคทีเรีย (Neisseria meningitidis)ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชนิดย่อย (Serogroup) ได้อีกหลายสิบชนิดตามองค์ประกอบของแคปซูล(Capsule)/ ถุงหุ้ม ที่หุ้มเซลล์แบคทีเรีย ได้แก่ ชนิดย่อย A, B, C, D, E29, H, I, K, L, W135, X, Y, Z โดยที่ชนิดย่อย A, B, C, Y, และ W135 เป็นชนิดหลักที่ก่อให้เกิดโรค มีแหล่งสะสมตามธรรมชาติคือ คนสามารถพบในบริเวณลำคอ เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆทำให้เสียชีวิตได้

การติดต่อของโรคไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก

โรคไข้กาฬหลังแอ่น ติดต่อทางการหายใจ ผ่านทางการไอ หรือจาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง อาการแรกเริ่มจะมาด้วยอาการคล้ายติดเชื้อไวรัส มีระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 2-10 วัน ปกติ 3-4 วัน

อาการแสดงโรคไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคไข้กาฬหลังแอ่น อาการแสดงจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัส มีไข้ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้น 12 – 72 ชั่วโมงจะเริ่มมีผื่น

  • กรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด (Meningococcemia) ซึ่งเป็นอาการที่พบมาก ในเด็กวัยเรียนและวัยหนุ่มสาวจะมีอาการรุนแรงและรวดเร็ว โดยเลือดจะมาหล่อเลี้ยงที่ปลายหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยจะมีผื่น เลือดออกตามผิวหนัง ในรายที่รุนแรงจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต รวมทั้งภาวะที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (Waterhouse-Friderichsen Syndrome) จนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด

    ไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก มฤตยูดำที่หวนกลับมาอีกครั้ง

  • การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ( Meningococcal meningitis) จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง(จนมีอาการหลังแอ่น เป็นที่มาของชื่อโรคนี้ ) อาเจียน คอแข็ง และซึมลงอย่างรวดเร็ว   แต่หากรักษาทันท่วงทีก็ลดอัตราการเสียชีวิตได้
    Meningitis

การรักษาโรคไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก 

รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และแยกห้องเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น การรักษาหลักคือการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยในเบื้องต้น หากยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่นอนจากทางห้องปฏิบัติการว่าเกิดจากเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น แพทย์จะให้ยาปฏิ ชีวนะชนิดที่ครอบคลุมการฆ่าเชื้อได้หลายชนิด  ร่วมกับการรักษาประคับประคอง ได้แก่ การให้ยาลดไข้ การให้สารน้ำ ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ต้องให้สารน้ำปริมาณมาก ให้ยากระตุ้นหลอดเลือดและการบีบตัวของหัวใจหากผู้ป่วยมีเลือดออกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งจะทราบได้จากการมีภาวะช็อกยาวนาน และแก้ไขด้วยวิธีต่างๆดังข้างต้นไม่ได้ผล รวมทั้งตรวจเลือดพบปริมาณฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตลดลง ซึ่งการรักษาก็จะต้องให้ฮอร์โมนดังกล่าว คือฮอร์โมน Glucocorticoid สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดไม่แข็งตัว เกิดเลือดออก ก็ต้องให้สารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดเพิ่มด้วย

การป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก

ให้ยาปฏิชีวนะในผู้ที่สัมผัสโรค และหลีกเลี่ยงการอยู่ในแหล่งชุมชนที่หนาแน่นที่ขาดระบบสุขาภิบาลที่ดี หรือในที่แออัดไม่มีการถ่ายเทอากาศเพียงพอเป็นเวลานาน และให้วัคซีนแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ สำหรับในประเทศไทยไม่ได้แนะนำให้บุคคลทั่วไปและเด็กฉีดวัคซีน เนื่องจากพบผู้ป่วยเพียงประปราย และไม่ได้มีการระบาดเกิดขึ้นเป็นช่วงๆเหมือนในประเทศอื่นๆ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team