ลูกดิ้นเมื่อไหร่ อาการลูกดิ้นเป็นอย่างไร แม่มือใหม่ต้องรู้

21 November 2017
192342 view

ลูกดิ้น

ลูกดิ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความมีชีวิต ณ ขณะนั้นของทารกในครรภ์ หากลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นเบาลง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกคุณแม่อาจตกอยู่ในอันตรายได้ค่ะการดิ้นของทารกในครรภ์นั้นเป็นความรู้สึกของผู้เป็นแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทั้งหลาย โดยปกติในครรภ์แรก ลูกมักจะดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ และในครรภ์หลังๆ ลูกจะดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ โดยอายุครรภ์ที่นับเป็นสัปดาห์ ในทางการแพทย์นั้นจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ไม่ใช่นับตั้งแต่วันที่ขาดประจำเดือนเหมือนกับที่เราคิดกันทั่วๆ ไป ด้วยเหตุนี้จึงมักจะเกิดความสับสนกันบ่อยๆ ระหว่างคุณแม่ที่ตั้งครรภ์กับคุณหมอที่ดูแล ทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาดได้

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ท้องแรกดิ้นช้ากว่าลูกในครรภ์ของคุณแม่ท้องสอง ไม่ใช่เป็นเพราะเจ้าตัวน้อยในครรภ์หลังแข็งแรงกว่าหรือโตกว่า แต่เป็นเพราะคุณแม่ท้องสองมีประสบการณ์ความรู้สึกลูกดิ้นมาแล้ว ทำให้รู้ว่าที่มีอะไรขยับในท้องนั้นเป็นการดิ้นของลูก ในขณะที่คุณแม่ท้องแรกถึงแม้ลูกจะดิ้นแล้ว แต่คุณแม่ก็ยังไม่รู้ว่านั่นคือการดิ้นของลูก กว่าคุณแม่จะรู้ ลูกในครรภ์ต้องมีขนาดที่โตและดิ้นแรงแล้วจึงจะรู้สึกได้ ถ้าลองถามเพื่อนๆ ที่ตั้งครรภ์บางคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน อาจจะพบว่าตั้งครรภ์ 6 เดือนแล้ว ลูกก็ยังไม่ดิ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีหน้าท้องหนา เพราะฉะนั้นเมื่อลูกยังไม่ดิ้นเมื่อถึงอายุครรภ์ที่กล่าวมา คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลค่ะ แต่ก็อย่าชะล่าใจมากเกินไปนะคะ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการดูแลต่อไปค่ะ

ลูกดิ้นครั้งแรกเมื่อไหร่?

ลูกของคุณแม่จะเริ่มเคลื่อนไหวเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6-7 สัปดาห์ แต่เป็นการขยับตัวที่เบามาก เนื่องจากแขนขาของลูกน้อยในครรภ์มีขนาดเล็ก คุณแม่อาจจะไม่รู้สึก แต่เมื่อตั้งครรภ์ได้ 13-16 สัปดาห์ สำหรับแม่มือใหม่อาจจะเริ่มรู้สึกได้เมื่อตั้งครรภ์ไปได้ 18-20 สัปดาห์ ดังนั้นคุณแม่ไม่ต้องไปกังวลว่าลูกดิ้นช้าเนื่องจากว่าระยะเวลาที่จะรู้ว่าลูกดิ้นในแต่ละคน ต่างกันมากโดยเฉลี่ยประมาณ 13- 25 สัปดาห์

ความแตกต่างของลูกดิ้น ของแต่ละช่วงอายุครรภ์

การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์แต่ละช่วงอายุครรภ์ คุณแม่ทราบหรือไม่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง คุณแม่จำเป็นต้องศึกษาพัฒนาการ การเคลื่อนไหวของลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ เพื่อเป็นเช็คและติดตามสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ การดิ้นของทารกในครรภ์ แต่ละช่วงอายุครรภ์มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง แม่ๆมาดูกันเลยค่ะ

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 16 ถึง 20 สัปดาห์

เมื่ออายุครรภ์ 16 ถึง 20 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ โดยคุณแม่ที่เคยมีบุตรแล้วจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อย หรือการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ ส่วนคุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อย ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ ซึ่งลูกน้อยในครรภ์ช่วงอายุนี้จะสามารถได้ยินและฟังเสียงต่างๆที่เกิดขึ้นใกล้ตัวคุณแม่ได้เป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่ง เวลาที่คุณแม่ ไอ จาม หัวเราะ หรือถอนหายใจยาวๆ ก็จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่มีการเคลื่อนไหว สะดุ้งหรือถีบขาไปด้วยค่ะ

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 20 ถึง 24 สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์ 20 ถึง 24 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะมีการเคลื่อนไหว หรือดิ้นอย่างมีความหมาย เป็นการสื่อสารกับคุณแม่ เช่น ดิ้นเมื่อตกใจ ดิ้นเมื่อหิว ดิ้นเมื่อได้ยินเสียงดังหรือดิ้นเมื่อคุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถ แม้กระทั่งความเครียดของคุณแม่ก็ส่งผลให้ลูกน้อยในครรภ์ดิ้นบ่อยได้ด้วยความแรงหรือด้วยลักษณะที่แตกต่างไปจากการดิ้นปกติ ดังนั้นคุณแม่ควรรักษาอารมณ์ให้เบิกบานและแจ่มใสอยู่เสมอค่ะ

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 24 ถึง 28 สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์ 24 ถึง 28 สัปดาห์ คุณแม่เริ่มสังเกตได้เมื่อลูกเกิดอาการสะอึก ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกเหมือนมีอาการกระตุก เนื่องจากถุงน้ำคร่ำในช่วงอายุครรภ์นี้บรรจุน้ำได้มากถึง 750 มิลลิลิตร ทำให้ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่มีพื้นที่ว่างที่จะโยกย้ายไปรอบๆได้อย่างอิสระ จึงทำให้คุณแม่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงการเคลื่อนไหว หรือการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างชัดเจนค่ะ

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 29 สัปดาห์ 

ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะเริ่มเคลื่อนไหวน้อยลง เนื่องจากภายในมดลูกจะเริ่มมีการบีบตัวมากขึ้นเล็กน้อย แต่จะทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์ดิ้นแรงขึ้น

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 32 สัปดาห์

คุณแม่สามารถสังเกตได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์ได้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วงสัปดาห์นี้ การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์จะลดน้อยลง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติค่ะ เนื่องจากลูกน้อยของคุณแม่มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวน้อยนั่นเอง แต่จะเริ่มเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้นก่อนที่ลูกน้อยจะเริ่มกลับหัวลงค่ะ

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 36 สัปดาห์

เนื่องจากพื้นที่ว่างในครรภ์ของคุณแม่เริ่มแคบลงเรื่อยๆ คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าการเคลื่อนไหวของลูกน้อยเป็นไปอย่างลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ลูกน้อยเตะชายโครง

ลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 36 ถึง 40 สัปดาห์

โดยปกติคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์ดิ้นน้อยลง หรืออาจจะเท่าเดิมเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด แต่อย่างไรก็ตาม ลูกน้อยในครรภ์ยังควรดิ้นอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ 10 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง ในทางการแพทย์ ที่อายุครรภ์เท่านี้ จํานวนครั้งที่ลูกน้อยดิ้นต้องเท่าเดิม แต่ความแรงอาจลดลง

คลิปลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 26 สัปดาห์

จังหวะของลูกดิ้น มีความแตกต่างกันอย่าไร?

ถึงตอนนี้อาจจะมีคำถามจากคุณแม่ว่า แล้วการที่ลูกดิ้นเบา ดิ้นแรงมีความหมายอะไรหรือไม่ จะบ่งบอกถึงสุขภาพของเด็กได้หรือเปล่า ถ้าดูรายละเอียดของการดิ้นแล้วจะพบว่า การดิ้นของลูกในท้องมีจังหวะตามความรู้สึกของแม่อาจจะแบ่งได้เป็น 3-4 อย่างใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ

  1. การดิ้นเบาๆ
  2. การดิ้นแรงๆ หรือการเตะ หรือการเคลื่อนไหวแบบกระตุก
  3. การเคลื่อนแบบเป็นคลื่น
  4. การกระตุกเป็นจังหวะหรือการสะอึก

การดิ้นทั้ง 4 แบบ ก็ไม่ค่อยได้มีความหมายแตกต่างกันมากนัก เพราะอย่างที่ได้กล่าวตอนต้นแล้วว่า การรู้สึกถึงลูกดิ้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ดังนั้น อย่างน้อยขอให้ดิ้นไว้ก่อนก็ยังแสดงว่าลูกปลอดภัยนะคะในทางทฤษฎีแล้วการดิ้นเบาๆ จะเป็นการดิ้นของลูกอายุครรภ์น้อยๆ เช่น อายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น การดิ้นก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นการดิ้นแบบที่ 2 ส่วนการดิ้นแบบแรกก็จะเริ่มลดลง สำหรับการดิ้นแบบที่ 3 เป็นการดิ้นที่พบได้ปะปนกันไปในทุกอายุครรภ์ ส่วนการสะอึกนั้น มักพบในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งก็เหมือนกับการสะอึกของผู้ใหญ่ทั่วไปค่ะแต่เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าลูกดิ้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เราอาจจะต้องแยกให้ออกจากการเต้นของหลอดเลือดแดง ซึ่งคุณแม่อาจจะรู้สึกได้ ทั้งนี้เนื่องจากมดลูกของคุณแม่จะวางอยู่บนแนวของเส้นเลือดแดง ที่วิ่งจากหัวใจลงสู่ส่วนล่างของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเรานอนหงายหรือนั่งเอนหลัง มดลูกก็จะไปวางบนลำของเส้นเลือดแดง ซึ่งจะทำให้มีการส่งผ่านของการเต้นมาที่มดลูก ทำให้คุณแม่รู้สึกว่ามีการเต้นเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอได้

ทำไมลูกดิ้นเบา? 

ในทางทฤษฎีแล้วการดิ้นเบาๆ จะเป็นการดิ้นของลูกอายุครรภ์น้อยๆ เช่น อายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น การดิ้นก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป หรือการที่ลูกน้อยดิ้นเบาอาจเป็นเพราะลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่มีการเคลื่อนไหวน้อยลงก็เป็นได้ค่ะ แต่เมื่อลูกน้อยของคุณแม่มีการเคลื่อนไหวที่น้อยลง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกน้อยในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารหรือออกซิเจนที่เพียงพอ หากคุณแม่สังเกตได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยที่ผิดปกติ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบและประเมินว่าลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ปกติหรือไม่

ทำไมลูกดิ้นแรง?

เนื่องจากลูกน้อยของคุณแม่มีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวน้อย จะทำให้ลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวน้อยลง แต่จะทำให้คุณแม่รู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์ดิ้นแรงขึ้นค่ะ แต่คุณแม่ก็อย่าชะล่าใจมากเกินไปนะคะ เมื่อลูกน้อยในครรภ์มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและรับการดูแลต่อไปค่ะ

ทำไมลูกไม่ดิ้น?

การที่ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ไม่ดิ้นนั้น ก็ไม่ได้ความว่าลูกน้อยของคุณแม่มีความผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ แต่อาจเป็นเพราะว่าลูกนอนหลับอยู่ โดยไม่เคลื่อนไหวใดๆ เลยก็ได้ แต่สำหรับคุณแม่บางรายหรืออาจเป็นคุณแม่ท้องแรก ที่พยายามสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในครรภ์แล้วพบว่า ลูกน้อยไม่ดิ้น อาจเป็นเพราะการขยับตัวที่เบามาก เนื่องจากแขนขาของลูกน้อยในครรภ์มีขนาดเล็ก คุณแม่อาจจะไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น แต่ถ้าลูกไม่ดิ้นนานเกินไป หรือคุณแม่รู้สึกว่าผิดปกติ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาและหาสาเหตุต่อไปค่ะ

วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น

Mama Expert มีวิธีกระตุ้นลูกน้อยในครรภ์ให้ดิ้นมาฝากคุณแม่ท้อง โดยแต่ละวิธีได้รับการยืนยันจากคุณแม่ท้องหลายๆท่าน ว่าได้ผลจริง ซึ่งวิธีกระตุ้นให้ลูกน้อยในครรภ์ดิ้นนี้หมายถึงช่วงที่ลูกน้อยมีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังที่เห็นได้ชัด แล้วคุณแม่ต้องการอยากทักทายเจ้าตัวน้อยในครรภ์ หรืออยากให้เจ้าตัวน้อยดิ้นโชว์ให้คุณพ่อหรือคนในครอบครัวดู แต่เจ้าตัวน้อยในครรภ์กลับไม่ดิ้น! แม่ๆมาดูวิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้นกันเลยจ้า

  1. ทานอาหารรสหวาน เมื่อคุณแม่ทานเสร็จให้รอประมาณ 2-3นาที แล้วสังเกตการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวน้อยในครรภ์ได้เลยค่ะ
  2. เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น นอนหงาย หรือนอนตะแคงสักครู่
  3. เปิดเพลงให้ลูกฟัง คุณแม่หลายท่านมักใช้วิธีนี้ โดยเมื่อเปิดเพลง เจ้าตัวน้อยในครรภ์ก็จะดิ้นเยอะมาก เหมือนบอกว่า หนูชอบเพลงที่แม่เปิดมากๆเลย
  4. ลูบหรือกดท้องด้านใดด้านหนึ่ง แล้วคุณแม่ลองสังเกตดูว่าลูกน้อยกดกลับหรือไม่
  5. ดื่มน้ำเย็น เพื่อเป็นการปลุกลูกน้อยให้ตื่น

วิธีที่กระตุ้นให้ลูกน้อยในครรภ์เคลื่อนที่หรือดิ้นได้ดีที่สุด คือ การสัมผัสค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการที่คุณแม่ลูบไล้หน้าท้องเบาๆ หรือการที่คุณพ่อลูบท้องคุณแม่แล้วคุยกับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ ก็เป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยดิ้นหรือมีปฏิกิริยาตอบโต้กับการสัมผัสของคุณพ่อคุณแม่ได้ดีที่สุด อีกทั้งการลูบไล้หน้าท้องบ่อย ยังเป็นการกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกน้อยในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ด้วยนะคะ ที่สำคัญการลูบหน้าท้อง คุณแม่ควรลูบหน้าท้องเป็นวงกลมจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้ค่ะ ยิ่งถ้าคุณแม่มีการพูดคุย หรือร้องเพลง ในขณะที่ลูบท้อง และทำในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำ คุณแม่จะรู้สึกได้ว่า เมื่อถึงช่วงเวลานั้น ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะดิ้นรอรับสัมผัสที่แสนจะอบอุ่นจากคุณแม่อยู่แล้วค่ะ

 

คุณแม่ลองนำวิธีง่ายๆนี้ ไปกระตุ้นเจ้าตัวน้อยในครรภ์ให้ดิ้นโชว์คุณพ่อ ดูนะคะ

การดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สัญญาณที่ทำให้ว่าที่คุณแม่ตื่นเต้นกับทารกตัวน้อยๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ด้วย ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นนับและสังเกตการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ พร้อมกับจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงไว้อยู่เสมอเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก ได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่  

1. คู่มือนับลูกดิ้นสำหรับคุณแม่มือใหม่

2. อาการเจ็บครรภ์เตือน ความแตกต่างระหว่างเจ็บครรภ์เตือนและเจ็บครรภ์จริง

3. ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องต้องระวัง

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

1. BabyCenter. Your baby's movements in pregnancy. เข้าถึงได้จาก https://www.babycenter.in/a549375/your-babys-movements-in-pregnancy . [ค้นคว้าเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2560]

2. BabyCenter. Fetal movement: Feeling your baby kick . เข้าถึงได้จาก https://www.babycenter.com/0_fetal-movement-feeling-your-baby-kick_2872.bc. [ค้นคว้าเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2560]