โรคเมลิออยโดซิสในเด็ก ภัยร้ายที่คุณแม่ควรรู้

19 September 2017
2260 view

โรคเมลิออยโดซิสในเด็ก

โรคเมลิออยโดซิสในเด็ก หรือที่รู้จักกันในโรคเมลิออยด์ เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื้อนี้สามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน และน้ำ มีความทนนานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก ซึ่งในหน้าแล้งจะพบเชื้อสูงกว่าในหน้าฝน เชื้อนี้สามารถหลบซ่อนอยู่ในดินได้ตลอดทั้งปี และเมื่อถึงหน้าฝนเชื้อนี้จะขึ้นมาอยู่ที่ผิวดิน สามารถทนต่ออุณหภูมิต่ำในตู้เย็นได้หลายเดือน มักพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูฝน โรคนี้พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และในกลุ่มอาชีพ หรือบุคคลที่สัมผัสดิน หรือน้ำ เช่น ชาวนา ชาวสวน

โรคเมลิออยโดซิสในเด็ก เกิดจากเชื้ออะไร

โรคเมลิออยโดซิสในเด็กเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเชื้อเมลิออยโดซิส ที่มีชื่อว่า เบอร์คอลเดเรียสูโตมัลเลไอ (Burkholderiapseudomallei) ซึ่งเชื้อมักอาศัยอยู่ในดินแลน้ำ และเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผลจากสาเหตุต่างๆ จากการสัมผัสโดยตรงจากดิน โคลน หรือน้ำที่มีเชื้ออาศัยอยู่ หรืออาจติดต่อทางการหายใจ ทางการกิน การติดจากผู้ป่วยโดยตรง ทุกระบบของร่างกายสามารถติดเชื้อเมลิออยโดซิสได้ ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กระแสเลือด รองลงมาคือ ปอด ผิวหนังและเนื้อเยื่อตามลำดับ และยังอาจพบการติดเชื้อที่บริเวณช่องท้อง คอหอยและทอนซิล ต่อมน้ำลายพาโรติด ต่อมน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ ข้อ กระดูก และสมอง

โรคเมลิออยโดซิสในเด็กติดต่ออย่างไร

เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างการคนผ่านทางผิวหนังที่สัมผัสกับดินหรือน้ำผ่านทางแผลที่ผิวหนัง การหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อ การดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนเชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ และการรับประทาน แพะ และแกะ ที่มีการติดเชื้อบริเวณเต้านม ทำให้เชื้อผ่านออกมาทางน้ำนมระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 2 วัน หรือเป็นปีขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อและระยะเวลาแสดงอาการของโรค

โรคเมลิออยโดซิสในเด็กมีอาการอย่างไร

อาการแสดงของโรคนี้มักมีได้หลายลักษณะ เช่น

  1. แบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หนาวสั่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ และมักมีอาการของปอดอักเสบ หรือเป็นฝีกระจายไปทั่วปอด
  2. การติดเชื้อเฉพาะที่ มักพบการติดเชื้อที่ปอด มีอาการเหมือนปอดอักเสบ มีไข้ ไอ มีเสมหะ น้ำหนักลด บางคนไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก บางคนมีฝีในตับ หรือฝีในกระดูก หรือฝีที่ผิวหนัง
  3. การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบแพร่กระจาย ภายใน 2-3 วัน ผู้ป่วยมักมีการอักเสบของอวัยวะหลายแห่งพร้อมกันและมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดภาวะช็อกจากโลหิตเป็นพิษได้ และภายใน 24 ชั่วโมงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ส่วนในเด็กมักจะพบต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบเป็นหนอง และเป็นเพียงข้างเดียว มักทำให้มีอาการไข้ ปวดบวมบริเวณหน้าหูคล้ายคางทูม ใน 1-2 สัปดาห์ก้อนจะบวมแดงมากขึ้น บริเวณที่บวมอาจพบตุ่มหนองขึ้นที่ผิวหนัง มีหนองไหลออกจากหูข้างเดียวกัน หรือมีหนังตาอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วยในบางราย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

การรักษาโรคเมลิออยโดซิสในเด็ก

เป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน โดยจะต้องได้รับยาฉีดประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากตัวโรคนี้ไม่มีอาการจำเพาะ และมีอาการใกล้เคียงกับโรคติดเชื้ออื่นๆ  ตัวโรคยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต้องรับประทานยาต่อเนื่องนาน 6 เดือน เพื่อกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกาย เนื่องจากเชื้อนี้ทนต่อยาปฏิชีวนะทั่วไป จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะจำเพาะ และใช้เวลาในการรักษานาน ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน เพราะโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว สามารถเป็นซ้ำได้อีก

โรคเมลิออยโดซิสในเด็กป้องกันได้อย่างไร

การป้องกันการติดเชื้อคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นลูกต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำ ควรสำรวจดูก่อนว่าลูกน้อยไม่มีบาดแผล เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล
สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง และกางเกงขายาวร่วมด้วย และควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลังเสร็จงาน นอกจากนั้นยังควรรับประทานอาหารและน้ำที่สุกสะอาดรวมถึงไม่ทานอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนของดินหรือน้ำที่ไม่สะอาด อีกทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับลมฝุ่น หรือการลมฝนในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ เพราะภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้มีความรุนแรง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

บทความแนะนำเพิ่มเติม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ. โรคเมลิออยโดสิส. นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/iZvcL4. [ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560].
  2. ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ผู้ช่วยอาจารย์ เภสัชกร ธีรวิชญ์ อัชฌาศัย. ฟ้ารั่ว ฝนปรอย กับโรคเมลิออยโดสิส. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/UpEdQU. [ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560].
  3. HealthandTrend. โรคเมลิออยโดสิส. เข้าถึงได้จากhttp://www.healthandtrend.com/healthy/disease/melioidosis. [ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560].
  4. ฝ่ายภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก สถาบันวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. วิมล เพชรกาญจนาพงศ์. โรคเมลิออยโดสิส. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/zMkacW. [ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560].