แม่ท้องขับรถ อย่างไรให้ปลอดภัย คุณหมอมีคำตอบ

02 April 2021
16904 view

แม่ท้องขับรถ

ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เพื่อปรับให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรกายวิภาค หรือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น อาการบวมตามแขนขา และการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนและเมตาบอลิซึมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วจะส่งผลให้ขาดความคล่องตัวในการเดินทาง แต่เนื่องจากคุณแม่อาจมีความจำเป็นต้องสัญจรทางรถยนต์ หลายท่านคงมีความกังวลว่า จะขับรถเดินทางตามปกติได้หรือไม่ และมีข้อปฏิบัติอย่างไรในระหว่างการขับรถให้ปลอดภัยสูงที่สุด มาดูคำตอบจากคุณหมอกันค่ะ


แม่ท้องขับรถได้หรือไม่ 

ข้อเท็จจริงคือ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถนั่งรถยนต์ หรือแม้กระทั่งขับรถยนต์ด้วยตนเองได้ โดยอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขับรถ โดยช่วงเวลาที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ มี 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงไตรมาสแรก หรือ ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยช่วงนี้การเปลี่ยนแปลงขนาดหน้าท้องยังไม่มากนักก็จริง แต่คุณแม่หลายท่านอาจประสบ ปัญหาแพ้ท้อง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียนมากเวลาเดินทาง และยังเป็นช่วงสุ่มเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีปัญหาแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ได้ง่ายื แม้การขับรถยนต์ ไม่ได้เพิ่มโอกาสในการแท้งบุตร แต่หากเกิดปัญหาในระหว่างการขับขี่ ก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และบุตรในครรภ์ได้

แม่ท้องขับรถได้ทุกช่วงอายุครรภ์จริงหรือ

ส่วนช่วงไตรมาสสุดท้าย คือ ช่วงก่อนคลอดในเดือนที่ 7-9 คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล เนื่องจากใกล้คลอดเต็มที หรือหากคุณแม่ยังต้องทำงานประจำอยู่ ก็สามารถขับรถไปทำงานประจำวัน หรือ เดินทางในระยะใกล้ได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ควรขับรถเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อว่าหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะได้สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตที่อาจเกิดขึ้นได้

แม่ท้องขับรถอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย

รายละเอียดการขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัยในระหว่างตั้งครรภ์นั้น คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป ควรปรับเบาะนั่งให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ โดยห่างจากพวงมาลัย 10-12 นิ้ว อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นเส้นทางชัดเจน โดยที่มือสามารถหมุนพวงมาลัย เท้าเหยียบเบรคและคันเร่งได้ถนัด แล้วจึงคาดเข็มขัดนิรภัย โดยให้แนวแทยงของเข็มขัดคาดผ่านร่องอกไปตามแนวโค้งของท้อง ส่วนแนวนอนของเข็มขัดอยู่เหนือต้นขา และกระดูกเชิงกราน ห้ามคาดทับบริเวณหน้าท้องตำแหน่งของมดลูกโดยตรง

นอกจากนี้ ก่อนเดินทาง ควรสำรวจความเรียบร้อยของยานพาหนะ ประกอบไปด้วย การเช็คลมยาง แบตเตอรี่ หม้อน้ำ น้ำมันเครื่องก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เรื่องนี้คุณพ่อสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยขับขี่ยานพาหนะได้ เพียงเท่านี้ คุณแม่ก็สามาถขับขี่รถยนต์ได้ด้วยความปลอดภัย เดินทางโดยสวัสดิภาพ

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. คนท้องกินอะไรดีต่อลูก108ปัญหาคาใจตอบทุกคำถาม

2. ยาบำรุงครรภ์ลดความพิการของทารก

3. บำรุงครรภ์อย่างไรให้ลูกฉลาด

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

ขอบคุณ :  http://www.manager.co.th  โดย พญ.พลอยนิล พุทธาพิทักษ์พงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพระรามเก้า