10ข้อคำถามยอดฮิต ที่แม่ตั้งครรภ์อยากรู้จากคุณหมอ

29 February 2016
13183 view

คำถามยอดฮิต ที่แม่ตั้งครรภ์อยากรู้

ด้วยความรักและความห่วงใยต่อลูกรัก หรือจะเนื่องจากการเป็นคุณแม่มือใหม่ ข้อคำถามจึงเกิดขึ้นมากมายตลอดการตั้งครรภ์ วันนี้ Mamaexper ได้รวบรวมสิ่งที่มักทำให้แม่ตั้งครรภ์ไม่สบายใจ หรืออยากรู้ อยากถามหมอ พร้อมคำตอบเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตนเองและเข้าใจสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงกับสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ตลอด 9 เดือน มีดังนี้ …

คำถามข้อที่ 1 : ท้องเล็ก ท้องโต น้ำหนักแม่ท้องต้องขึ้นกี่โลกันแน่!

คำตอบ : เรื่องน้ำหนักของแม่ท้อง ตลอดอายุการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12–15 กิโลกรัม โดยแต่ละไตรมาส ควรขึ้นไปอย่างช้าๆ
  • ไตรมาสแรก น้ำหนักเพิ่มตลอดทั้งไตรมาส ประมาณ 1-2 กิโลกรัม เกือบครึ่งของแม่ตั้งครรภ์ที่น้ำหนักลด ไม่ผิดปกติยกเว้นในรายที่ลดมากกว่า 4 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ควรปรึกษาสูติแพทย์
  • ไตรมาสที่สอง น้ำหนักจะเพิ่มโดยเฉลี่ย 1/2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยรวมประมาณ 4 – 8 กิโลกรัม ตลอดไตรมาส
  • ไตรมาสที่สาม น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นตลอดไตรมาสเพียง 2 – 3 กิโลกรัมเท่านั้น หลายคนคงที่ หรือลดลงเล็กน้อย

คำถามข้อที่ 2 : วัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดขณะตั้งครรภ์ หรือวัคซีนคนท้อง มีอะไรบ้างและวัคซีนห้ามฉีดขณะท้องมีอะไรบ้าง
คำตอบ: กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย รวมถึง องค์การอนามัยโลกได้กำหนด วัคซีนบาดทะยักให้เป็นวัคซีนจำเป็นสำหรับแม่ตั้งครรภ์ต้องฉีดทุกราย  สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรปรึกษาสูติแพทย์ก่อนฉีด  วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน ห้ามฉีดขณะตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด 

คำถามข้อที่
3 : ยาบำรุงครรภ์ของฉันไม่เหมือนคนอื่น กินวิตามินเสริมเพื่อสุขภาพแม่ และวิตามินเสริมเพื่อสุขภาพลูกได้หรือไม่
คำตอบ : อาหารบำรุงสุขภาพแม่และลูกน้อยในครรภ์ดีที่สุดมีสารอาหารสูงสุดได้มาจากอาหารหลัก 5 หมู่  ส่วนสารอาหารที่คุณแม่ควรทานเพิ่มมากขึ้น คือ ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ป้องกันการตกเลือกขณะคลอดบุตร นอกจากธาตุเหล็กแล้ว ยังมี แคลเซี่ยมที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ ส่วนวิตามินชนิดอื่นๆ จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่ท้องแต่ละคน แพทย์จ่ายยาตามสุขภาพที่ตรวจหรือผลเลือดที่ตรวจในการนัดครั้งนั้นๆ แม่ท้องอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ยาและวิตามินทุกชนิดควรอยู่ในดุลย์พินิจของสูติแพทย์เพียงเท่านั้น!

คำถามข้อที่ 4 : ขณะตั้งครรภ์มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ควรงดตอนอายุครรภ์กี่สัปดาห์ มีผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่ 
คำตอบ : ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือนสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ แต่ไม่ควรใช้ท่าโลดโผน รุนแรง จนเกิดไป สำหรับรายที่ต้องงดสูติแพทย์จะแนะนำคุณแม่เองว่า ควรงดในสัปดาห์ที่เท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับสุขภาพของแม่และลูกในท้องด้วย ส่วนคุณแม่ที่สุขภาพร่างกายปกติขณะมีเพศสัมพันธุ์อยู่นั้นหากมีเลือดออก หรือเจ็บท้อง ท้องปั้นถี่ ท้องเเข็งถี่  ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์และรีบปรึกษาแพทย์ทันที

คำถามข้อที่ 5 : การดื่มนมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ควรดื่มอย่างไรถึงจะดี ต้องเป็นนมสำหรับคนท้องจริงหรือไม่
คำตอบ : การดื่มนมบำรุงครรภ์ ไม่จำเป็นต้องเป้นนมสำหรับคนท้อง แต่ถ้าจะเลือกดื่มก็ไม่ผิดแต่จะมีราคาสูงและสารอาหารไม่แตกต่าง นมวัวสามารถดื่มได้ในปริมาณที่พอเหมาะคือ 1 – 2 แก้วต่อวัน สำหรับคุณแม่ที่ชอบดื่มนมถั่วเหลือง ควรเพิ่มปริมาณเป็นสองเท่าของนมวัว หรือ ชดเชยด้วยการรับประทานผักเเคลเซี่ยมสูงชดเชยได้ นมแนะนำควรเป็นนมรสจืด เพราะรสหวานอาจมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้


คำถามข้อที่ 6 : ตอนท้องแม่สิวขึ้น หน้าพังมาก ใช้ยาลดสิวได้หรือไม่
คำตอบ : ช่วงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงขอระดับฮอร์โมนเพศ จึงส่งผลต่อสุขภาพผิว คุณแม่ที่รักสวยรักงามเกิดความวิตกมากในข้อนี้ การเลือกใช้ยารักษาสิวขณะตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวัง ยากลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ ได้แก่ Tretinoin, Isotretinoin, Adapaleneและ Tazarolene หากได้รับขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้เกิดความพิการต่อทารกได้ ดังนั้นก่อนการใช้ยารักาสิวควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งทุกครั้งว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดกับลูกน้อยในครรภ์ได้ 
 
คำถามข้อที่ 7 : การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจริงหรือไม่ และความเสี่ยงที่ต้องระวังมีอะไรบ้าง
คำตอบ : การั้งครรภ์แต่ละครั้งมีความเสี่ยงจริง! แต่คำว่าครรภ์เสี่ยง หรือ การตั้งครรภ์ของคุณอยู่ในภาวะเสี่ยง หรือไม่นั้น สูติแพทย์จะเป็นผู้บอกเรื่องนี้กับคุณหลังจากตรวจสุขภาพแล้ว และ ความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์นี้ เกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุครรภ์ ที่พบบ่อยได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รกเกาะต่ำ น้ำคร่ำมาก น้ำคร่ำน้อย แท้ง คลอดก่อนกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับสุขภาพของมารดาด้วย เพราะฉะนั้นการให้ประวัติตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ครั้งแรก จึงมีความสำคัญมากในการวินิจฉัยโรคและความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ ดังนั้นแม่ท้องจำเป็นต้องไปฝากครรภ์ตามนัดเพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันเวลา 

คำถามข้อที่ 8 : ระหว่างตั้งครรภ์ มักมีอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ รับประทานยาแก้ปวดได้หรือไม่
คำตอบ : ในระหว่างการตั้งครรภ์ พบว่าแม่ท้องมักจะมีอาการปวดต่างๆ เช่น มีอาการปวดนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือบางครั้งก็มีอาการชา อาการทั้งหมด เกิดจาก ารเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลให้เอ็นคลายตัวจึงทำให้ข้อต่อกระดูกมีการหย่อนตัว ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็ทำงานมากขึ้นจึงเกิดอาการปวดตามข้อมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดหลัง ควรนั่งพัก และอย่าเดินมาก ทั้งนี้หากอาการเจ็บปวดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือสร้างความรำคาญใจ คุณแม่สามารถใช้ยาพาราเซตามอลรับประทานลดปวดหรือนวดทาเพื่อบรรเทาอาการได้ สำหรับคุณแม่บางท่านอาจมีอาการชาตามข้อมือได้ เนื่องจากอาการบวมของพังผืดบริเวณข้อมืออาจบีบรัดเส้นประสาทบริเวณแขนและข้อมือ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณปลายประสาทได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหรือชาของคุณแม่ไม่บรรเทาลง หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที 

คำถามข้อที่ 9 : เบิกค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมได้ทุกโรงพยาบาลหรือไม่ 
คำตอบ  :  หากคุณหรือสามี มีสิทธิ์นี้อยู่ สามารถเลือกใช้สิทธิ์ของคนใดคนหนึ่ง หลังคลอดและได้รับสูติบัติแล้ว สามารถยื่นได้ที่สำงานประกันสังคมทุกเขตพื้นที่ แต่ เงื่อนไขผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้

คำถามข้อที่ 10 : กลับไปคลอดบุตรที่ต่างจังหวัด หรือ คลอดคนละที่กับโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ ได้หรือไม่ 
คำตอบ : โดยทั้วไปแล้วสามารถคลอดได้ ทุกโรงพยาบาล แนะนำให้นำสมุดฝากครรภ์ติดตัวไปด้วย เพราะประวัติการฝากครรภ์สำคัญมาก แต่ทั้งนี้ … อาจมีข้อจำกัดของแต่ละโรงพยาบาล
ดูแลครรภ์ครั้งนี้ให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย สนใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายแม่ และนำการเปลี่ยนแปลงนั้น ไปปรึกษาสูติแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ด้วย แพทย์จะเป็นคนบอกคุณเองว่าสุขภาพครรภ์คุณเป็นอย่างไร และควรจัดการกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆนั้นอย่างไรบ้าง ที่สำคัญท้องครั้งนี้มีสองชีวิตที่ต้องดูแลอย่างดีควบคู่กันไป อย่าคิดและรักษาเอง นะคะ หากมีภาวะฉุกเฉินแม่ท้องควรไปพบแพทย์ก่อนวันนัดค่ะ
 
บทความแนะนำ :
เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team