การตรวจเจาะน้ำคร่ำ ของคุณแม่ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป

04 October 2015
13579 view

การตรวจเจาะน้ำคร่ำ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การตรวจเจาะน้ำคร่ำ

การตรวจเจาะน้ำคร่ำแพทย์แนะนำให้ทำทุกรายในคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป และในรายที่แพทย์พิจารณาว่ามีความเสี่ยง ต้องตรวจวินิจฉัยจากน้ำคร่ำ และทำเมื่ออายุครรภ์ได้ 14 – 20 สัปดาห์ การเจาะน้ำคร่ำไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนทำ ก่อนเจาะ 3 – 4 ชั่วโมงควรดื่มน้ำมากๆเพื่อให้แน่ใจว่ามีปริมาณของน้ำคร่ำเพียงพอและไม่จำเป็นต้องให้กระเพาะปัสสาวะเต็มก่อนทำ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจเจาะน้ำคร่ำ

  • เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติทางโครโมโซม เช่นโรค Down syndrome,cystic fibrosis
  • เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อในน้ำคร่ำ
  • เพื่อประเมินความแรงของปอดของทารก
  • ความผิดปกติของโครงสร้างของร่างกาย เช่น Spina bifida (การเปิดของสันหลัง กระดูกสันหลังไม่ปิด) และ Anencephaly (สภาวะที่สมองไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีสมอง)

 

วิธีการตรวจเจาะน้ำคร่ำ

  • แพทย์จะทำการตรวจครรภ์โดยจะใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์เพื่อคาดคะเนอายุครรภ์ที่แน่นอน จำนวนของทารก การเต้นของหัวใจ ท่าและตำแหน่งของทารก ตำแหน่งของรก ว่าอยู่ที่ตรงไหนเพื่อป้องกันไม่ให้เข็มแทงไปถูกทารก สายสะดือ หรือรก
  • ก่อนเจาะแพทย์จะเตรียมผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่จะเจาะโดยทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดใต้ผิวหนัง
  • แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ ยาวๆเจาะผ่านผนังหน้าท้อง ผ่านลงไปที่มดลูก เข้าไปในถุงน้ำคร่ำแล้วดูดเอาน้ำคร่ำปริมาณ 15 -30 ml. (1ml. / อายุครรภ์ 1 สัปดาห์) ออกมานำไปปั่นหาเซลล์ของทารก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมต่อไป
  • การเจาะน้ำคร่ำใช้เวลาเพียง 2 –3 นาที คุณแม่สามารถกลับบ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล ภายใน 12 ชั่วโมงร่างกายจะสร้างน้ำคร่ำมาทดแทนได้เหมือนเดิม
  • การเจาะน้ำคร่ำอาจมีความรู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มแทงสัก 2 -3 วินาที แต่เมื่อเข็มแทงผ่านลงไปแล้วความรู้สึกนั้นก็จะหายไป ความกลัวเข็มและเกร็งหน้าท้องขณะทำจะทำให้เจ็บมากขึ้น คุณแม่บางท่านจะมีควมรู้สึกเหมือนถูกกดบริเวณท้องน้อยขณะที่มีการดูดน้ำคร่ำออกไป หลังจากเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้วบางรายอาจรู้สึกเกร็งเล็กน้อย การนอนพักสักระยะจะทำให้ดีขึ้น ผลการตรวจจะทราบภายใน 2 – 3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของเซลล์ และขั้นตอนในห้องปฏิบัติการ

คุณแม่ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าต้องเจาะน้ำคร่ำ เห็นขั้นตอนทั้งหมดแล้วใช่ไหมคะ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เตรียมใจให้พร้อม ขอให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีนะคะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. เจาะน้ำคร่ำของคุณแม่ตั้งครรภ์ เจาะอย่างไร ใครบ้างที่ต้องเจาะ

2. การตรวจความผิดปกติของหัวใจทารกในครรภ์

3. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team