นมแม่แช่แข็ง นำมาละลายให้ลูกดื่มอย่างไร ไม่สูญเสียคุณค่าทางอาหาร

19 November 2022
1516 view

นมแม่แช่แข็ง

.

.

อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยในวัยทารกก็คือน้ำนม ด้วยสรีระของทารกและระบบการย่อยที่เหมาะแก่การดื่มนมเป็นอาหารหลัก และตามงานวิจัย รวมถึงการแนะนำของคุณหมอก็พบว่าน้ำนมที่เหมาะสมกับการนำมาให้ทารกดื่มกินก็คือน้ำนมแม่ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำนมแม่เป็นสารอาหารที่ทารกจำเป็นต้องนำมาใช้ในพัฒนาการและการเจริญเติบโต เมื่อคุณแม่มีน้ำนมแล้วลูกน้อยไม่สามารถดูดได้ทัน หรือคุณแม่บางท่านก็อาศัยการปั้มน้ำนมเก็บไว้เพื่อเป็นอาหารสำหรับลูกน้อยในมื้อต่อๆ ไป ซึ่งวิธีการนั้นก็คือการนำนมแม่แช่แข็งไว้นั่นเอง แต่ทั้งนี้หากจะนำมาให้ลูกดื่มต้องละลายนมอย่างไร เรามีคำแนะนำมาฝาก

คำแนะนำในการละลาย นมแม่แช่แข็ง

เมื่อคุณแม่นำนมแม่แช่แข็งออกมาจากตู้แช่ก็ควรจะละลาย แล้วทำการอุ่นน้ำนมเพื่อเตรียมให้ลูกน้อยดื่ม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากน้ำนมที่ลูกน้อยดูดออกมาจากอกของคุณแม่จะมีความอุ่นตามธรรมชาติ เมื่อคุณแม่นำน้ำนมแม่แช่แข็งมาให้ลูกน้อยดื่มก็ควรอุ่นเพื่อให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิน้ำนมตามธรรมชาติที่ลูกน้อยคุ้นเคยเมื่อดูดนมจากอกของคุณแม่ เราไปพบกับคำแนะนำในการละลายนมแม่แช่แข็งพร้อม ๆ กันเลย

  • นำนมแม่แช่แข็งออกจากช่องแช่แข็งแล้วนำมาแช่ในช่องธรรมดาก่อนเป็นเวลา 1 คืน เพื่อลดการแข็งตัวของน้ำนม และ ลดระยะเวลาในการอุ่นน้ำนม
  • นำถุงหรือขวดออกมาจากตู้เย็นจากนั้นเปิดน้ำก๊อกไหลผ่านเป็นเวลาประมาณ 10 นาที
  • อุ่นน้ำในหม้อหรือภาชนะขนาดที่สามารถใส่ถุงหรือขวดนมที่บรรจุน้ำนมลงไปได้ โดยเตรียมน้ำอุ่น ๆ ที่อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส จากนั้นนำถุงหรือขวดที่บรรจุน้ำนมที่ผ่านการเปิดน้ำก๊อกไหลผ่านมาแล้วไปแช่ในน้ำอุ่นที่เตรียมไว้ ช่วงนี้อาจมีการเขย่าน้ำนมช่วยเพื่อให้ไขมันในน้ำนมคุณแม่ที่แยกรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงเทน้ำนมใส่ขวดให้ลูกน้อยดื่ม

สิ่งที่ไม่ควรทำในการละลายนมแม่

เมื่อเราได้พาเหล่าคุณแม่และว่าที่คุณแม่ทั้งหลายไปเตรียมพร้อมกับขั้นตอนการละลายนมแม่แช่แข็งกันแล้ว ถัดมาเราขอพาเหล่าคุณแม่และว่าที่คุณแม่ทั้งหลายไปพบกับสิ่งที่ไม่ควรทำในการละลายนมแม่กัน

  • การให้ความร้อนโดยตรงกับน้ำนมที่ผ่านการแช่แข็ง ในส่วนนี้เป็นวิธีการทำให้นมที่ผ่านการแช่แข็งกลับมาอุ่นและลูกน้อยพร้อมดื่มได้ในระยะเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตามการให้ความร้อนกับน้ำนมโดยตรงแม้ในระยะเวลาไม่นานก็จะทำให้สารอาหารในน้ำนมถูกทำลายได้ ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารจากน้ำนมสำหรับการเจริญเติบโตไม่ครบถ้วน จึงไม่ควรให้ความร้อนน้ำนมโดยตรง
  • การใช้ไมโครเวฟเพื่ออุ่นน้ำนม ส่วนนี้ก็ไม่ควรทำเช่นกัน แม้ว่าการใช้ไมโครเวฟจะเป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน แล้วใช้พลังงานความร้อนนั้น ๆ มาทำให้น้ำนมอุ่นขึ้น เพราะอย่างไรก็ตามการให้ความร้อนด้วยวิธีนี้ก็ยังคงจัดเป็นการให้ความร้อนโดยตรงอีกเช่นกัน ซึ่งก็จะทำให้สารอาหารในน้ำนมถูกทำลายได้เหมือนกับการให้ความร้อนน้ำนมโดยตรงด้วยวิธีอื่น ๆ เลย

รู้ไหม นมแม่แช่แข็ง เก็บได้นานเท่าไหร่

วิธีเก็บนมแม่ด้วยการแช่แข็งนั้น สำหรับคุณแม่บางท่านก็จะเกิดข้อคำถามได้ว่าเมื่อแช่แข็งไว้แล้ว สามารถเก็บได้นานแค่ไหน ระยะเวลาที่เหมาะสมคือเท่าไร สำหรับส่วนนี้เราก็ต้องขอบอกว่าระยะเวลาในการเก็บนมแม่แช่แข็งนั้นจะแตกต่างตามอุณหภูมิของตู้ที่คุณแม่ใช้ กล่าวคือ

  • เก็บน้ำนมที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส (กระติกใส่น้ำแข็ง) จะสามารถเก็บได้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • เก็บน้ำนมที่อุณหภูมิ 2 – 4 องศาเซลเซียส (เก็บในส่วนล่างของตู้เย็น) จะสามารถเก็บได้เป็นเวลา 8 วัน
  • เก็บน้ำนมที่อุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียส (เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นช่องล่าง) จะสามารถเก็บได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์
  • เก็บน้ำนมที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส (เก็บในช่องแช่เย็น) จะสามารถเก็บได้เป็นเวลา 3 – 6 เดือน
  • เก็บน้ำนมที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส (เก็บในตู้แช่แข็ง) จะสามารถเก็บได้เป็นเวลา 6 – 12 เดือน

ทั้งนี้อุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บน้ำนมควรคงที่ตลอดเวลา อุณหภูมิไม่ควรขึ้นลง เพราะจะทำให้คุณภาพของน้ำนม และระยะเวลาในการเก็บรักษาน้ำนมหรือระยะเวลาที่น้ำนมยังคงสามารถใช้งานได้เปลี่ยนแปลงไป

วิธีเก็บนมแม่ด้วยการนำนมแม่แช่แข็งจัดเป็นหนึ่งวิธีการที่เป็นตัวช่วยให้คุณแม่มือใหม่สามารถจัดการกับสต๊อกของน้ำนม หรือ เก็บรักษาน้ำนมเพื่อให้เพียงพอกับการดื่มของลูกน้อยได้ รวมถึงคุณแม่บางท่านที่จำเป็นต้องกลับไปทำงานประจำไม่สามารถให้นมลูกน้อยโดยตรงจากอกของคุณแม่ได้ วิธีการนี้ก็จะมาช่วยให้ลูกน้อยยังคงได้รับอาหารเป็นน้ำนมแม่ ซึ่งน้ำนมแม่ก็เป็นแหล่งของสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกน้อย สำหรับบทความข้างต้นเป็นเทคนิคที่สามารถช่วยให้คุณแม่สามารถละลายน้ำนมที่ผ่านการแช่แข็งเพื่อเตรียมให้ลูกน้อยได้ดื่มโดยยังคงไว้ซึ่งคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนในน้ำนมแม่

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. วิธีป้องกันและแก้ไข นมแม่แช่เเข็งมีกลิ่นหืน

2. นมแม่มีเลือดปน เกิดจากอะไร ลูกดื่มได้หรือไม่

3. อายุของนมแม่แช่แข็ง นมแม่เเช่เเข็ง เก็บอย่างไร ไม่ให้บูดและไม่สูญคุณค่า

 

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team