เด็กตัวเหลือง อันตรายใกล้ตัวลูกที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง

05 March 2018
25767 view

เด็กตัวเหลือง

เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดและเด็กเล็ก เกิดจากร่างกายมีสารสีเหลืองที่มีชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติและไปจับอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่ผิวหนังและที่ตาจึงทำให้ผิวทารกและตาขาวเป็นสีเหลือง ที่อันตรายคือ บิลิรูบินที่สูงเกินสำหรับทารกนั้น ไปจับกับเซลล์สมองอาจทำให้ทารกมีอาการผิดปกติ ปัญญาอ่อน พิการหูหนวกตามมาได้ จึงจำเป็นต้องให้การวินิจฉัยและการรักษาในเวลาที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของลูกค่ะ 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

เด็กตัวเหลือง มีอาการอย่างไร

เด็กแรกเกิดมักเริ่มมีภาวะตัวเหลืองและตาเหลืองในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด โดยอาการเริ่มจากใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ก่อนลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา และอาจมีสีเหลืองชัดขึ้นเมื่อใช้ปลายนิ้วกด รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้ ดังนี้

  1. ตาขาวเป็นสีเหลือง
  2. เหงือกเหลือง
  3. ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเหลือง
  4. ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม (ปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี)
  5. อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก (ผิดจากปกติที่ควรเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม)

คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที หากสังเกตพบอาการต่อไปนี้

  1. ตัวเหลืองและมีไข้สูงร่วมด้วย
  2. ไม่ยอมดูดนม น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น
  3. แขน ขา และท้องเหลือง
  4. เซื่องซึม 
  5. ร้องไห้เสียงแหลม
  6. มีอาการตัวเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ
  7. มีอาการตัวเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์

เด็กตัวเหลือง มีสาเหตุเกิดจากอะไร

เด็กตัวเหลืองส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากระดับสารบิลิรูบินหรือสารสีเหลืองในเลือดที่สูงมากเกินไป นอกจากนี้ ภาวะเด็กตัวเหลืองอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนี้

1. เด็กตัวเหลือง เป็นภาวะปกติที่ไม่ใช่โรค (Physiologic jaundice)

ส่วนใหญ่จะพบในทารกหลังคลอด วันที่ 3-4 เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์มารดาทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงในระดับสูง เมื่อเม็ดเลือดแดงส่วนนี้ถูกทำลายตามอายุของเม็ดเลือดแดง สารฮีมภายในถูกเปลี่ยนเป็นบิลิรูบิน แม้ทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดีประมาณ 50-60% ก็อาจมีตัวเหลืองได้ในระดับไม่สูงมาก และมักจะหายเหลืองไปเองเมื่ออายุประมาณ 5-7 วัน หรืออย่างมากไม่เกิน 10 วัน ในเด็กคลอดครบกำหนด แต่เด็กคลอดก่อนกำหนด อาการตัวเหลืองจะหายไปภายในประมาณ 2 สัปดาห์

2. เด็กตัวเหลือง ที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น

เด็กตัวเหลืองที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เช่น

  1. หมู่เลือดของแม่และทารกไม่ตรงกัน มักพบในคุณแม่หมู่เลือดโอและทารกหมู่เลือดเอหรือบี หรือในคุณแม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบ โดยที่ทารกมี Rh บวก ฯลฯ เป็นต้น
  2. ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือขาดเอ็นไซม์บางอย่างในเม็ดเลือดแดง เช่น ภาวะพร่องเอนไซม์ จี6พีดี หรือ ธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
  3. ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากโดยเฉพาะทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นเบาหวาน
  4. ทารกมีเลือดออกหรือเลือดคั่งเฉพาะส่วน เช่น บวม โนที่ศีรษะจากการคลอด ทารกหน้าคล้ำหลังคลอด เป็นต้น
  5. การติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งมักมีอาการซึม ไม่ดูดนม อาจมีท้องอืด อาเจียน มีไข้ หรือไม่มีก็ได้ ฯลฯ

3. เด็กตัวเหลือง ที่เกิดจาก

สาเหตุอื่นๆ

  1. เด็กทารกที่ดูดนมแม่อาจพบมีภาวะตัวเหลืองในปลายอาทิตย์แรก และอาจเหลืองนานเกิน 1-4 สัปดาห์ ในระดับที่ไม่มีอันตราย
  2. ภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมไธรอยด์
  3. โรคอื่นๆ ที่พบน้อยมาก เช่น มีการอุดตันในทางเดินอาหาร ในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือท่อน้ำดี
  4. ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากตับทำงานได้ไม่ดีเท่าทารกที่คลอดครบกำหนด จึงอาจพบภาวะตัวเหลืองได้สูงกว่าปกติ

เด็กตัวเหลือง เพราะกินนมแม่จริงหรือไม่

เด็กตัวเหลืองอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ตัวเหลืองจากนมแม่ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุของอาการตัวเหลืองจากนมแม่ ซึ่งอาการตัวเหลืองจากนมแม่จะพบมากที่สุดในช่วงอายุ ๑๐-๒๑ วัน แต่ก็อาจจะเป็นต่อไปนาน ๒ หรือ ๓ เดือนได้ อาการตัวเหลืองจากนมแม่เป็นเรื่องปกติ แทบไม่มีกรณีใดเลยที่จำเป็นต้องหยุดให้ลูกกินนมแม่ แม้แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ มีบางกรณีเท่านั้นที่ทารกจำเป็นต้องได้รับการรักษาอื่น ๆ เช่น การส่องไฟ และไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยที่แสดงว่าอาการตัวเหลืองจากนมแม่จะเป็นปัญหากับทารก คุณแม่ที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง ควรมีการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ เพื่อในวันที่ลูกคลอดออกมาจะได้มีปริมาณน้ำนมเพียงพอ ลดภาวะตัวเหลือง Breast feeding jaundice ได้ คุณแม่เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่งเลยค่ะ

เด็กตัวเหลือง รักษาอย่างไร

เด็กตัวเหลืองสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการลดระดับของบิลิรูบินในเลือดด้วยวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ดังนี้

1. เด็กตัวเหลือง รักษาด้วยการส่องไฟรักษา

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าหลอดไฟธรรมดาสามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้ แต่แท้จริงแล้วหลอดไฟที่ใช้ในการรักษาเป็นหลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงเหมาะสมกับการรักษาเท่านั้น หากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงเกิน 12-15 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร ต้องนำทารกมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้นเพราะไม่สามารถใช้หลอดไฟที่มีอยู่ตามบ้านหรือแสงแดดในการรักษาภาวะตัวเหลืองได้

2. เด็กตัวเหลือง รักษาด้วยการถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา

ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมองเบื้องต้นแล้ว ควรใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของทารกได้อย่างทันท่วงที

3. เด็กตัวเหลือง รักษาด้วยยา

ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin)

เด็กตัวเหลือง มีวิธีดูแลอย่างไร

1. หากพบทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด คุณหมอจะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานอยู่แล้วและอาจจะมีการนัดตรวจติดตาม บทบาทของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เพียงแค่พาลูกน้อยมาตรวจตามที่คุณหมอนัด

2. หากลูกน้อยเริ่มแสดงอาการตัวเหลืองหลังจากกลับไปอยู่บ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบว่าทารกตัวเหลืองคือไม่ตามวิธีข้างต้น หากพบว่ามีอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นควรนำลูกมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที

3. สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์อย่างทันท่วงที

4. อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที

5. เลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ หากคุณแม่มือใหม่ประสบปัญหาในการให้นมลูกน้อย เช่น ลูกดูดนมยาก ลูกดูดนมน้อยหรือยังให้นมลูกไม่ถูกต้อง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลเพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก

เด็กตัวเหลือง ป้อนน้ำป้อนน้ำช่วยลดอาการเหลืองได้จริงหรือ

การป้อนน้ำไม่ช่วยลดอาการเหลือง ส่วนการงดนมแม่ จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุและระดับของสารสีเหลืองในทารกแต่ละราย และสารสีเหลืองพวกนี้ ไม่ละลายในน้ำ ต่อให้กินน้ำมากแค่ไหน ก็ไม่ช่วยค่ะ

ไม่ว่าลูกจะเจ็บป่วยด้วยภาวะอาการใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรทำคือเข้าใจและรักษากันเอง เพราะนั่นจะไม่ได้ช่วยให้ลูกหายป่วยแล้ว ยังจะเป็นการทำให้ลูกเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้ ง่ายๆ ค่ะถ้าลูกแรกเกิดมีอาการผิดปกติขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

..ด้วยรักและหวงใย จากใจ Mama expert...

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. เด็กกินนมแม่ตัวเหลือง

2. ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

3. โคลอสตรุ้มนมแม่ น้ำนมสีเหลือง

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง

1. มหาวิทยาลัยมหิดล คณเภสัชศาสตร์.ดร.คณิสส์ เสงี่ยมสุนทร.ลูกตัวเหลือง เรื่องไม่เล็กของเด็กเปลี่ยนสี.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/ceEkb0 .[ค้นคว้าเมื่อ 3 มีนาคม 2561]

2. โรงพยาบาลสมิติเวช.ภาวะเด็กตัวเหลือง.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/85tSLT .[ค้นคว้าเมื่อ 3 มีนาคม 2561]

3. มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย.ลูกตัวเหลือง..เข้าถึงได้จาก http://www.thaibreastfeeding.org/page.php?id=105 .[ค้นคว้าเมื่อ 3 มีนาคม 2561]