วัคซีนป้องกัน 3 โรค คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทย

06 December 2017
3948 view

วัคซีนป้องกัน 3 โรค

วัตซีนป้องกัน 3 โรค จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทย โรคคอตีบและโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนโรคบาดทะยักพบได้ในทุกเพศและวัย เพราะมีการปนเปื้อนของเชื้อบาดทะยักในสิ่งแวดล้อมและดิน ในประเทศไทยมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน เพื่อช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคทั้งสามได้เป็นอย่างดี

วัคซีนป้องกัน 3 โรค คืออะไร

1. วัคซีนป้องกันโรคตีบ

เกิดจากเชื้อคอตีบ ซึ่งอยู่ในน้ำลาย เสมหะ หรือน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งทำให้ลำคออักเสบรุนแรง เกิดเป็นพังพืดอุดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากนี้ การติดเชื้อยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน กล่าวคือเชื้อคอตีบสามารถปล่อยสารพิษ ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและประสาทอักเสบได้ โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายโดยการหายใจ ไอ หรือจามรดกัน มีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน

อาการของโรคคอตีบ

จะมีอาการ ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอเล็กน้อยแต่รู้สึกกลืนลำบาก คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียมาก ถ้ามีอาการอักเสบของกล่องเสียง จะมีอาการไอ เสียงแหบ หายใจลำบาก

2. โรคบาดทะยัก

เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยัก ที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่นในดิน พื้นหญ้า มูลสัตว์เจริญได้ดีในที่ที่ไม่มีออกซิเจน ส่วนมากมักจะมีประวัติมีบาดแผลตราร่างกาย เช่น ตะปูตำ หนามตำ สัตว์กัด เป็นต้น

เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล แล้วปล่อยสารพิษออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้มีอาการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ชักกระตุก หายใจลำบาก รุนแรงจนเสียชีวิตได้ ระยะฟักตัว 5 วัน - 15 สัปดาห์ แต่พบมากระหว่าง 6-15 วัน

3. โรคไอกรน

เกิดจากเชื้อไอกรนซึ่งมีอยู่ในคอของผู้ป่วยที่เป็นโรคในระยะแรกเท่านั้น ติดต่อได้โดยการไอหรือจามรดกัน ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอมาก จนหายใจลำบาก ในเด็กอาจมีอาการ หยุดหายใจ ชัก ไออย่างรุนแรง ซึ่งทำให้หายใจลำบาก อาเจียน และรบกวนการนอนหลับ ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน

ใครบ้างต้องฉีดวัคซีนป้องกัน 3 โรค

วัคซีนคอตีบ บาดทะยักและไอกรนชนิด DTwP และ DTaP จะเริ่มให้ในเด็กตั้งแต่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4 ปี และตามด้วยการกระตุ้นซ้ำอีก 2 ครั้งด้วยวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (dT) ตอนอายุ 7 และ 12 ปี ส่วนในคนท้องหรือมีบาดแผลจะแนะนำให้ฉีดวัคซีน dT เพื่อป้องกันบาดทะยัก การพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยักเมื่อได้รับบาดแผล ขึ้นกับประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยักและลักษณะบาดแผล

วัคซีนป้องกัน 3 โรค ฉีดอย่างไร

การให้วัคซีน DTwP, DTaP และ Tdap ให้ครั้งละ 0.5 มล. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณกึ่งกลางต้นขาหรือ บริเวณต้นแขนขึ้นกับอายุเด็ก ถ้าเป็นเด็กเล็กฉีดบริเวณหน้าขาด้านใน ส่วนเด็กโตฉีดบริเวณต้นแขน

วัคซีนป้องกัน 3 โรค มีผลข้างเคียงอย่างไร

อาจมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดได้ แต่อาการมักไม่รุนแรง การดูแลรักษาอาการข้างเคียง หากปวด บวมบริเวณที่ฉีดให้ประคบ ด้วยผ้าเย็น หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสม หากอาการ ข้างเคียงเป็นรุนแรง หรือเป็นมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และบอกอาการให้ แพทย์ทราบโดยละเอียด แม้ว่าจะมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ประโยชน์ในการป้องกันโรค จากวัคซีนมีมากกว่า รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันตราย หากไม่ฉีดวัคซีน

ใครบ้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกัน 3 โรคได้

  • มีภาวะผิดปกติทางสมอง หรือซัก ซึ่งยังควบคุมไม่ได้
  • เคยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อวัคซีนนี้มาก่อน
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปี และผู้ใหญ่ไม่ควรรับวัคซีนนี้ แต่ควรรับ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (ไม่มีไอกรน) แทน
  • หากมีไข้ไม่สบายควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน ควรรอให้หายป่วย ก่อนจึงมารับวัคซีน

ราคาวัคซีนป้องกัน 3 โรค

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลับมหิดล วัคซีนป้องกัน 3 โรค ราคา 495 บาท 

ราคาวัคซีนป้องกัน 3 โรค อาจมีวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีด้วย ในโรงพยาบาลเอกชน ราคาจะอยู่ที่ประมาณ เข็มละ 2200 ยังไม่ร่วมค่าบริการของโรงพยาบาลค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคของลูกน้อย เพราะเด็กแรกเกิดไม่มีภูมิต้านทาน เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย  เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมพาลูกน้อยที่เรารักไปรับวัคซีนนะคะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วัคซีนในเด็กมีอะไรบ้าง

2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

3. วัคซีนเสริม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง 

1. วัคซีน...น่ารู้.สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.เข้าถึงได้จาก file:///C:/Users/OK%20COM/Downloads/[jCMS]-371_pidst_20100423101913_filekhow.pdf. [ค้นคว้าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560].

2. ศูนย์วัคซีน.มหาวิทยาลัยมหิดล.ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก.เข้าถึงได้จาก http://www.gj.mahidol.ac.th/th/services-the-public/medical-services/modern-medicine/vaccine/. [ค้นคว้าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560].