โรคคาวาซากิ โรคอันตรายในเด็กที่แม่ต้องรู้ ที่แม่ต้องเช็ค!!!

22 November 2017
10109 view

โรคคาวาซากิ 

หรือที่เรียกกันว่า โรคหัดญี่ปุ่น พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดย นายแพทย์ TomisakuKawasaki ที่ประเทศญี่ปุ่น และตั้งชื่อว่า Mucocutaneous Lymph Node Syndrome ( MCLS ) พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี พบมากที่สุดในช่วงอายุ 1 – 2 ปี และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรคคาวาซากิ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบครั้งแรก บางคนเรียกหัดญี่ปุ่นตามแหล่งค้นพบ

ระบาดวิทยาของโรคคาวาซากิ

อุบัติการของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด โดยพบมากแถบเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับในประเทศไทยก็พบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยโรคนี้จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (ประมาณ 2:1) โดยเฉพาะในช่วงอายุ 1-2 ปี พบบ่อยที่สุด โรคนี้มีโอกาสเกิดในครอบครัวเดียวกัน(พี่น้อง)ได้ โดยเมื่อคนหนึ่งเป็นอีกคนจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กทั่วๆ ไปและเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจเกิดเป็นซ้ำได้ พบได้ประมาณ 3-5%

สาเหตุการเกิดโรคคาวาซากิ

สาเหตุการเกิดโรคคาวาซากิยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด คาดว่าโรคนี้น่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อบางชนิดทั้งแบคทีเรียและไวรัส, การใช้แชมพูซักพรม, การอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานผิดปกติ (Immunologic disease) แต่มีปัจจัยที่พบโรคคาวาซากิบ่อยได้แก่

4ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคคาวาซากิ

  1. เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
  2. เด็กผู้ชายพบบ่อยกว่าเด็กผู้หญิง
  3. เด็กชาวเอเชีย เช่น ชาวญี่ป่น เกาหลี พบบ่อยกว่าเด็กชาติอื่น
  4. ในเด็กที่มีพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ พบโรคนี้เป็นสองเท่าของเด็กปกติ

อาการของโรคคาวาซากิที่คุณแม่ต้องรู้

อาการของโรคคาวาซากิ จะนำมาด้วยไข้สูง ไข้ในโรคคาวาซากิจะสูงมากกว่า  38.3 องศาเซลเซียส (Celsius) และไข้สูงไม่ลดลงแม้จะให้ยาปฏิชีวนะ หากไม่ได้รักษา ไข้จะสูง 1-2 สัปดาห์และอาจมีไข้สูงนานถึง 3-4 สัปดาห์นอกจากอาการไข้ จะมี 5 อาการสำคัญหลักๆที่วินิจฉัยได้ว่า ลูกรักของคุณเป็นโรคคาวาซากิ 
images (2)

6 อาการฟันธงว่าลูกเป็นโรคคาวาซากิ

  1. มีไข้สูงกว่า38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  2. ตาแดงโดยไม่มีขี้ตาทั้งสองข้าง
  3. ริมฝีปาก คอและเยื่อบุปาก แดง ลิ้นเป็นตุ่มแดงนูนดูคล้ายผิวสตรอเบอร์รีและริมฝีปากแตก
  4. มือเท้าบวมแดงในเวลาต่อมา (ในประมาณสัปดาห์ที่ 2 และ 3) ปลายมือเท้าอาจลอก
  5. มีผื่นลักษณะต่างๆกันขึ้นตามตัวและอาจขึ้นมากบริเวรขาหนีบ
  6. ต่อมน้ำเหลืองลำคอโต คลำได้ ขนาดต่อมน้ำเหลืองมักโตมากกว่า 1.5 ซม. ไม่เจ็บ หรือเจ็บแต่น้อย

อาการแสดงอื่นๆที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างที่เป็นโรคคาวาซากิได้แก่ ปวดตามข้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ท้องเสีย ปอดบวม เป็นต้น ปัญหาสำคัญของโรคคาวาซากิ คือ เกิดโรคแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบในโรคคาวาซากิ

หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ โดยการตรวจพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวต้องอาศัยการตรวจโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography)

วิธีการรักษาโรคคาวาซากิ

แพทย์จะให้ยาแอสไพริน เพื่อให้ไข้ลดเร็ว และเพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดรวมตัวเป็น กลุ่มก้อนเนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ ยังไม่มียาเฉพาะใช้รักษาโรค แต่แพทย์จะทำการรักษาตามอาการเพื่อ ความรุนแรงและอุบัติการณ์โรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดลง

ป้องกันโรคคาวาซากิได้หรือไม่?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคคาวาซากิ จึงยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่เป็นโรคที่รักษาได้ การรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว จะป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งที่สำคัญ คือ หลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพองได้มาก หากลูกมีไข้สูง เช็ดตัวลดไข้และให้ยาแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คุณแม่ไม่ควรวางใจเมื่อลูกมีไข้ตาแดงโดยไม่มีขี้ตาทั้งสองข้างริมฝีปาก คอและเยื่อบุปาก แดง ลิ้นเป็นตุ่มแดงนูนดูคล้ายผิวสตรอเบอร์รีและริมฝีปากแตก และ มือเท้าบวมแดง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียดนะคะ 

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. 5 โรคอันตรายในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

อ้างอิง :
  1. มูลนิธิเด็ดโรคหัวใจ.นายแพทย์วัชระ จามจุรีรักษ์.โรคคาวาซากิ.https://goo.gl/wwzYE9.[ค้นคว้าเมื่อ 15 กันยายน 2560]
  2. Familynetworkมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว.นายแพทย์วัชระ จามจุรีรักษ์.นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์.คาวาซากิ(Kawasaki disease).https://goo.gl/NyZafc.[ค้นคว้าเมื่อ 15 กันยายน 2560]
  3. โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อิงคนิจ  ชลไกรสุวัฒน์.โรคคาวาซากิ. https://goo.gl/iMgJ2D.[ค้นคว้าเมื่อ 15 กันยายน 2560]
  4. Wikipedia the free encyclopedia.Kawasaki disease.https://en.wikipedia.org/wiki/Kawasaki_disease.[ค้นคว้าเมื่อ 16 กันยายน2560]