เทคนิคเลิกขวดนมแบบหักดิบ และเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป เลิกแบบไหนแม่เลือกได้

09 September 2014
49467 view

เลิกขวดนม

เด็กๆ กับนมเป็นของคู่กันเสมอ แต่เมื่อถึงเวลาที่สมควร การดูดนมขวดควรเปลี่ยนเป็นการดื่มจากแก้ว หรือใช้หลอดดูดแทน เพราะการดูดนมจากขวดนานเกินไปมีข้อเสียหลายประการ ตั้งแต่ฟันผุ ฟันยื่น กินนมมากเกินไป ลดโอกาสพัฒนาทักษะการพูดและการใช้มือ (เนื่องจากมือและปากมาติดอยู่ที่ขวดนมตลอดเวลา) รบกวนการนอนตอนกลางคืน (ในกรณีที่ยังต้องตื่นมาดูดนมกลางดึก)
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เทคนิคเลิกขวดนมแบบหักดิบ

เลิกขวดนม ควรเริ่มเมื่อไหร่ดี

เวลาที่สมควรเลิกขวดนม คือ ช่วงอายุหนึ่งปี ถึงหนึ่งปีครึ่ง เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีฟันหลายซี่ให้ดูแล เป็นช่วงที่เริ่มจิบน้ำจากแก้วได้คล่อง และที่สำคัญคือยังเป็นช่วงที่ยอมทำตามคำสั่งได้ง่าย หากรอจนกระทั่งอายุใกล้สองปี เด็กมักเริ่มอยากเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น การบอกให้เลิกขวดนมในช่วงนี้มีโอกาสที่เด็กจะขัดแย้ง ไม่ทำตามสั่งได้มาก

เลิกขวดนม เริ่มอย่างไรดี

การเลิกขวดนม คุณพ่อคุณแม่ผู้เลี้ยงต้องมีการวางแผนร่วมกัน ขั้นแรกของการเลิกขวดนม คือ การเตรียมพร้อมให้เด็กสามารถจิบน้ำจากแก้วได้ ซึ่งขั้นตอนการสอนให้จิบน้ำจากแก้วสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 6 ถึง 9 เดือน โดยแนะนำให้เริ่มจิบน้ำเปล่าก่อน หากทำได้ไม่สำลัก ค่อยลองให้จิบน้ำผลไม้ และนมตามลำดับ เมื่อพิจารณาแล้วว่าเด็กสามารถดื่มนมได้จากแก้วโดยไม่สำลักค่อยเริ่มกระบวนการเลิกขวดนม ซึ่งแบ่งได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะเด็กแต่ละคนว่าปกติเป็นเด็กที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายเพียงใด และขณะนั้นติดขวดนมมากน้อยแค่ไหน

เทคนิคเลิกขวดนมแบบหักดิบ รับรองได้ผลชัวร์

การหักดิบเหมาะกับเด็กที่มีลักษณะว่าง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาในการตอบรับสิ่งใหม่ๆ ยังดูดนมจากขวดอยู่แต่ไม่ติดขวดมากนัก (เช่น ไม่ถือขวดเดินไปมา นอนหลับได้เองโดยไม่ต้องดูดนม) เริ่มโดย

  • บอกล่วงหน้าไว้บ้าง เช่น “หนูโตแล้วนะ อีกไม่นานน่าจะได้เวลางดขวดนมแล้ว” บอกซ้ำๆ บ่อยๆ หรือระบุวันไปเลย เช่น “วันเสาร์หน้าเป็นวันเลิกขวดนมนะ”
  • เลือกวันดีๆ วันที่ตื่นมาแล้วอารมณ์ดีทั้งเด็กและผู้ปกครอง และมีเวลาให้เด็กเต็มที่
  • ทำให้ยิ่งใหญ่และสนุก ประกาศว่าวันนี้เป็นวันเลิกขวดนม อาจให้เด็กเอาขวดนมทิ้งขยะ หรือพาไปซื้อแก้วน้ำที่ระลึกวันเลิกขวดนม (แนะนำว่าอย่าเพิ่งทิ้งขวดทั้งหมด ซ่อนเอาไว้บ้างเผื่อยังเลิกไม่สำเร็จ หรือเก็บไว้เล่นป้อนตุ๊กตา)
  • กล่าวคำชมมากๆ “หนูโตแล้ว” (ตบมือ) “กินจากแก้วเหมือนป่าป๊าเลย” (เย้ ตบมือๆๆ)
  • ระวังพฤติกรรมถดถอย ช่วงเลิกขวดใหม่ๆ เด็กอาจหงุดหงิดง่าย บางรายอาจดูดนิ้วมากขึ้น แนะนำให้ผู้ปกครองดูแล เอาใจใส่มากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเป็นการแทนที่ขวดนมที่หายไป

หลังจากเลิกไปแล้วเด็กยังมีความรู้สึกอาลับอาวร ขอกินนมขวดอีก ให้คุณแม่นำขวดนมใส่น้ำเปล่าให้ดูดบ้าง (อย่างน้อย น้ำไม่ทำให้ฟันผุ) สำหรับน้ำผลไม้ และนมต้องดื่มจากแก้วหรือกล่องเท่านั้น

เทคนิคเลิกขวดนมแบบค่อยเป็นค่อยไป

วิธีค่อยๆเลิกเหมาะกับเด็กส่วนใหญ่ หรือเด็กที่ติดขวดนม ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ เริ่มโดย

  • ใส่เครื่องดื่มในแก้ว วางไว้ให้พร้อมมื้ออาหารและของว่าง ก่อนที่เด็กจะร้องหาขวด
  • ตั้งเงื่อนไข ทำให้การดูดขวดนมไม่สะดวกสบาย เพลิดเพลินเหมือนเดิม โดยการตั้งกฏว่าถ้าจะดูดนมขวด ต้องนั่งดูดบนตักแม่หรือพ่อ หรือบนเก้าอี้ตัวที่ระบุเท่านั้น ห้ามนอนดูด ห้ามเล่นขณะดูดขวด ห้ามเดินไปมาโดยถือขวดไปด้วย
  • เปลี่ยนขวดนมเป็นแก้วในมื้อที่เด็กไม่ค่อยติดมากนัก เช่น มื้อกลางวัน โดยเปลี่ยนทีละมื้อทุกๆ 2 – 5 วัน มื้อที่เลิกยากที่สุดมักเป็นมื้อก่อนนอน
  • หาสิ่งดึงดูดความสนใจทดแทนขวดนม ชวนเล่นให้มากกว่าปกติ เน้นการเล่นที่ต้องใช้มือมากๆ เช่นเล่นปั้นดินน้ำมัน เล่นสี พาออกนอกบ้านเพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยที่จะโยงมาถึงขวดนมได้
  • มื้อก่อนนอนสำคัญที่สุดต้องเลิกให้ได้  ก่อนเลิกมื้อนี้ควรแน่ใจว่าก่อนนอนจะมีกิจกรรมอื่นที่มาแทนขวดนม
  • ให้ความสำคัญของขวดลดลง อาจเริ่มจากดื่มนมจากแก้ว อาบน้ำ แปรงฟัน อ่านนิทานก่อนนอน ถ้าเด็กไม่ร้องขอขวดนมก็ไม่ต้องเสนอให้ หากเด็กขอขวดนม ให้น้ำใส่แก้วแทนพร้อมกับยืนยันว่าตอนนี้กินนมไม่ได้แล้วเพราะหนูแปรงฟันแล้ว ถ้ายังงอแง นอนไม่หลับ มักเกิดจากการที่เด็กติดการดูดขวด (ไม่ต้องกลัวว่าจะหิว เพราะได้ดื่มนมก่อนแปรงฟันแล้ว) อาจให้ดูดขวดน้ำเปล่าแทนไปก่อน แล้วค่อยๆเปลี่ยนจุกขวดให้รูเล็กลงเพื่อทำให้ดูดยากขึ้น การมีสิ่งของอื่นเช่นตุ๊กตา ผ้าห่มนิ่มๆ มาแทนขวดนมเวลาเข้านอนมักช่วยลดความหงุดหงิด กังวลได้อีกแรงหนึ่ง

การเลิกขวดนมใช่ว่าจะสำเร็จทุกคนเสมอไป เพราะความอดทนของเด็กแต่ละคนต่างกัน ที่สำคัญทำแล้ว ต้องทำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่เดี๋ยวเลิก เดี๋ยวให้ อนุโลมไม่ได้ ใจของแม่ต้องเข้มเเข้งพอ คุณย่า คุณยายพอเห็นเด้กร้องรู้สึกสงสาร ความสงสารเป็นสิ่งที่ทำให้ภาระกิจครั้งนี้ล้มเหลวได้ ติดตามเคล็ดลับการเลี้ยงลูกได้ทุกวัน แล้วเจอกันในโอกาสต่อไปค่ะ  

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ผลกระทบการเลิกขวดนมช้า

2. การเปลี่ยนสูตรนมให้ลูก เริ่มอย่างไร

3. วิธีฝึกเจ้าตัวน้อยให้งดนมมื้อดึก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team