แพทย์ชี้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

18 September 2020
705 view

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์ “World Atopic Dermatitis Day 2020  โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคใกล้ตัวที่ถูกมองข้ามของคนไทย”  โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ ‘Atopic Dermatitis’ มีอาการผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังและคันมาก มักขึ้นตามตัวหรือบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวและเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย แต่น้อยคนนักที่จะตระหนักและเข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นหรืออาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้อยู่ จึงไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก่อให้เกิดอาการเรื้อรังได้

สำหรับลักษณะผื่นของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วย มี 3 แบบ ได้แก่ 

  1. ระยะเฉียบพลัน คือ มีผื่นบวมแดงที่มีตุ่มน้ำขนาดเล็ก บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา มีอาการคันมาก
  2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือ ผื่นแดง ตุ่มน้ำ แห้งเป็นสะเก็ด มีขุยบ้าง มีอาการคันมาก
  3. ระยะเรื้อรัง คือ ผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน มีอาการคันมากผู้ป่วยภาวะเรื้อรังบางรายมีอาการคันรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตและครอบครัว ตลอดจนกระทบความมั่นใจและการเข้าสังคม ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังหลายๆ ส่วนของร่างกาย เนื่องจากความอาย จนนำไปสู่ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดความเครียด กังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด

ศ.พญ. กนกวลัย กุลทนันทน์ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทุกวันที่ 14 กันยายนของทุกปีเป็น วันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโลก หรือ World Atopic Dermatitis Day มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนในวงกว้างเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวแต่ถูกมองข้าม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการให้บริการด้านวิชาการ ด้วยการมอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคผิวหนัง การรักษาที่เป็นมาตรฐานถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัยแก่แพทย์และประชาชนทั่วไป และในวันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโลก หรือ World Atopic Dermatitis Day นี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ และวงการแพทย์ไทย ได้มีโอกาสมอบองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนไทยเกี่ยวกับโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่นับว่าเป็นโรคใกล้ตัวที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมองข้าม”

ผศ. พญ. สุวิรากร  ธรรมศักดิ์ ประธานฝ่ายกิจกรรมสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “การจัดงาน เสวนาในครั้งนี้ เราจัดในรูปแบบออนไลน์เพื่อเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนได้เข้ามารับฟังข้อมูล รวมทั้งสอบถามข้อสงสัยต่างๆ โดยตรงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายของเราที่ร่วมบรรยายและเสริมความรู้เกี่ยวกับอุบัติการณ์ของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังให้เข้าใจมากขึ้น ตลอดจนเรื่องของอาการของโรค การดูแลตนเอง และแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคนี้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมทั้งผู้ที่สงสัยว่าตัวเองเป็นหรือไม่ ได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างตรงจุด

ด้าน ศ. พญ. ศิริวรรณ วนานุกูล ประธานชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก โดยมีผื่นเป็นๆ หายๆ เด็กบางคนอาจยังคงมีอาการเรื้อรังต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การร่วมมือกับสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ในการจัดงานเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ ทางชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กฯ มุ่งหวังว่าจะเป็นเวทีให้ความรู้สำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครองได้เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น เพื่อลดความวิตกกังวลและมีแนวทางการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพของลูกน้อยอย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องกับเด็กในการดูแลตัวเอง เพื่อให้บุตรหลานของท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้”

สำหรับสาเหตุของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ Atopic Dermatitis รศ. พญ. ปภาพิต ตู้จินดา หัวหน้าสาขาวิชาโรคภูมิแพ้ผิวหนัง และอิมมูโนวิทยา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “โรคนี้ยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของคนไข้ที่เกิดความผิดปกติของผิวหนังร่วมกับการมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ ได้แก่ การแพ้อาหาร โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคหอบหืด และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ บุตรมีโอกาสที่จะเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้ร้อยละ 38 แต่หากทั้งบิดาและมารดามีประวัติเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ บุตรจะมีโอกาสในการเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 58 แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ มีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยคนไข้แต่ละรายจะมีปัจจัยที่กระตุ้นที่แตกต่างกัน ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด การติดเชื้อที่ผิวหนัง การแพ้อาหารบางชนิด เช่น ไข่ นมวัว หรือแป้งสาลี การแพ้สารเคมีบางชนิด การใส่เสื้อผ้าที่ระคายเคือง หรือสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น”

ด้าน รศ. พญ. รัตนาวลัย นิติยารมย์ อาจารย์สาขาโรคผิวหนัง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอุบัติการณ์ของโรคนี้ว่า “โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่พบได้บ่อย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมของเด็กไทยในปัจจุบัน โดยอุบัติการณ์ของโรคนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ9-17 ส่วนผู้ใหญ่พบประมาณร้อยละ 10-15 ส่วนใหญ่จะพบในวัยเด็กเล็กตั้งแต่ขวบปีแรก โดยร้อยละ 85 จะพบในเด็กช่วง 5 ขวบปีแรก อาการสำคัญของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอันดับแรก คือ มีอาการคัน นอกจากนี้คนไข้จะมีผิวแห้ง สาก เป็นขุย มีผื่นแดงอักเสบชัดเจนที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สำหรับเด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะสังเกตได้จากตำแหน่งของผื่นที่จะเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน เช่น บริเวณแก้ม รอบริมฝีปาก บริเวณด้านนอกของแขน ขา ศอก เข่า มือ เท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อพับทั้งหลาย หรือบางคนอาจจะมีผื่นในลักษณะเป็นปื้นที่บริเวณขา ตลอดจนเป็นผื่นคันบริเวณหนังศีรษะและรอบใบหู ส่วนในเด็กโตและในวัยผู้ใหญ่ก็จะพบผื่นในบริเวณข้อพับแขน ขา  ซอกคอ มือ เท้า บางคนอาจจะมีอาการผิวแห้งแตกที่บริเวณเท้าทำให้เจ็บเวลาเดินได้ อย่างไรก็ตาม แม้โรคนี้จะมีอาการเรื้อรังและเป็นๆ หายๆ แต่ส่วนใหญ่เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการดีขึ้นตามวัยเมื่อเติบโตขึ้น การดูแลรักษาผิวที่ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้อาการกำเริบ และการใช้ยาทาอย่างเหมาะสม จะทำให้คนไข้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีจนสามารถหายจากโรคนี้ไปได้”

ผศ. นพ. เทอดพงศ์ เต็มภาคย์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการวินิจฉัยของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังว่า “การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาศัยลักษณะอาการแสดงทาง คลินิกร่วมกับการซักประวัติและการตรวจร่างกาย โดยไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำการทดสอบทางผิวหนังในผู้ป่วยทุกราย ควรพิจารณาตรวจเพิ่มเติมเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามมาตรฐานอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว แต่มีอาการรุนแรงมากขึ้น มีอาการแสดงเรื้อรัง หรือในกรณีที่มีประวัติว่ามีอาการกำเริบหลังได้รับสารก่อการแพ้ เช่น อาหาร หรือสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ  มักพบผู้ป่วยที่มีการแพ้อาหารสัมพันธ์กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในกลุ่มที่มีระดับความรุนแรงแบบปานกลางหรือมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการเจาะเลือดตรวจแอนติบอดีต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ การทดสอบการแพ้อาหาร หรือเลือกการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อหาปัจจัยกระตุ้นที่อาจทำให้โรคกำเริบเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว”

ทั้งนี้ แพทย์ทั้งสามท่านกล่าวว่า ในปัจจุบันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เมื่อโตขึ้นอาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายได้ และสามารถควบคุมการกำเริบของโรคได้ ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงอยู่ที่ การพยายามควบคุมอาการของโรคและให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวทางการรักษา ได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิว ควรทาหลังอาบน้ำทันที และไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น เฉพาะเมื่อมีการอักเสบที่ผิวหนังจึงใช้ยาทาลดการอักเสบ ทาบริเวณผื่นที่มีอาการเห่อแดงอักเสบ เมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาหรือหยุดยาตามคำแนะนำของแพทย์ ในรายที่มีผื่นขึ้นมากและอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และในปัจจุบันมีการรักษาโดยยาฉีดกลุ่มชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งความก้าวหน้าของแนวทางการรักษา โดยจะเลือกใช้ในรายที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th