ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้เด็กผ่าคลอดด้วยซินไบโอติก

12 December 2019
2577 view

เด็กผ่าคลอด คุณแม่คงได้ยินมาบ้างแล้วจากข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเด็กผ่าคลอดว่าเด็กที่ผ่าคลอดนั้นอาจได้รับภูมิต้านทานตั้งต้นในช่วงแรกคลอดน้อย ส่งผลให้ภูมิต้านทานพัฒนาล่าช้าตามไปด้วย อีกทั้งงานวิจัยของต่างประเทศยังพบว่า เด็กผ่าคลอดจะมีปริมาณจุลินทรีย์สุขภาพบิฟิโดแบคทีเรียน้อยกว่าเด็กคลอดธรรมชาติ เนื่องจากเด็กจะถูกนำออกมาจากหน้าท้องของคุณแม่โดยตรง จึงทำให้ไม่ได้รับจุลินทรีย์สุขภาพโพรไบโอติกผ่านช่องคลอดของคุณแม่ ซึ่งการขาดจุลินทรีย์สุขภาพดังกล่าว อาจส่งผลต่อพัฒนาการของระบบภูมิต้านทานของลูกได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การเร่งคืนภูมิต้านทานให้กับเด็กผ่าคลอดให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับเด็กที่คลอดธรรมชาตินั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กผ่าคลอดและไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีการค้นพบว่าการสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กผ่าคลอดตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตด้วยโภชนาการที่ดีที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติก และใยอาหารพรีไบโอติก หรือที่เรียกว่าทำงานแบบ ซินไบโอติก (Synbiotic) ซึ่งคุณแม่สามารถให้ซินไบโอติกกับลูกรักได้โดยการให้ลูกทานนมแม่นานที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ส่วนนมแม่มีซินไบโอติกมากน้อยแค่ไหน และลูกควรได้รับซินไบโอติกต่อเนื่องนานเท่าไหร่ เรามาขยายเรื่องนี้กันค่ะ

กุมารแพทย์แนะนำ “ซินไบโอติก” ในน้ำนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานตั้งต้น

โภชนาการของลูกมีความสำคัญมากโดยเฉพาะ 1,000 วันแรกที่ลืมตาดูโลก หากลูกได้รับโภชนาการที่ดีจะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โภชนาการที่ดีที่สุดนับจากวันแรกที่คลอดคือน้ำนมแม่ เพราะน้ำนมแม่อุดมไปด้วยซินไบโอติกที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานที่สำคัญ สอดคล้องกับกุมารแพทย์แนะนำว่า “การที่ลูกดื่มนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก จะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ลูกได้ดีที่สุด แต่หากไม่สามารถให้นมแม่ได้ การให้ลูกได้รับโภชนาการที่เสริมซินไบโอติกที่รวมคุณสมบัติของโพรไบโอติกและพรีไบโอติกก็สามารถเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับลูกน้อยได้เช่นกัน”

ซินไบโอติกช่วยสร้างภูมิต้านทานปกป้องลูกรักจากโรคต่างๆ ได้อย่างไร

เด็กเป็นวัยที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย การเพิ่มภูมิต้านทานให้กับลูกด้วยซินไบโอติก จากการให้ลูกดื่มนมแม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในน้ำนมแม่มีองค์ประกอบเสริมสร้างภูมิต้านทานหลายชนิดรวมทั้งโพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์สุขภาพ และพรีไบโอติกหรืออาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ เพราะเมื่อลูกได้ดื่มนมแม่ นมที่มีซินไบโอติกจะช่วยเพิ่มประมาณจุลินทรีย์สุขภาพโพรไบโอติกในลําไส้ของเด็กให้ดีและส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานในลำไส้และด้านอื่นๆ ดีตามไปด้วย

ซินไบโอติกโภชนาการที่ดีจากนมแม่ เสริมสร้างภูมิต้านทานลูกผ่าคลอดได้อย่างไร

ในนมแม่มีจุลินทรีย์สุขภาพโพรไบโอติก และใยอาหารพรีไบโอติกที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งทํางานร่วมกันแบบ ซินไบโอติก  

ซินไบโอติกจะช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์สุขภาพโพรไบโอติกในลําไส้ของเด็กผ่าคลอดให้มากขึ้น จึงช่วยในการพัฒนาระบบภูมิต้านทานให้มีประสิทธิภาพ เพราะเซลล์ภูมิต้านทานกว่า 70% ของร่างกายอยู่ที่ลําไส้ หากลูกรักผ่าคลอดแล้วไม่ได้รับการเสริมสร้างภูมิต้านทานจากซินไบโอติก อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ หรือเจ็บป่วยได้ง่ายเมื่อเทียบกับเด็กที่คลอดธรรมชาติ เช่น

  • เสี่ยงต่อโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้นถึง 20% หากเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหารรวมทั้งเรื่องพัฒนาการด้านร่างกายอีกด้วย
  • เสี่ยงต่อโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นถึง 23% โรคหอบหืดเป็นโรคที่รุนแรง มีอาการหายใจเร็ว แรง แน่นหน้าอก และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • มีภูมิต้านทานอ่อนแอเพิ่มขึ้นถึง 46% ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น เป็นหวัดได้ง่าย

 

ล่าสุดมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากเด็กมากกว่า 1 ล้านคนในประเทศสวีเดน พบว่าเด็กที่ผ่าคลอดมีความเสี่ยงที่จะแพ้อาหาร เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับเด็กที่คลอดธรรมชาติ

ซินไบโอติกมีความสำคัญต่อทารกแรกเกิดอย่างมากเพราะโพรไบโอติก หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของซินไบโอติกถือเป็นภูมิต้านทานตั้งต้น ซึ่งเด็กที่คลอดธรรมชาติจะได้รับโพรไบโอติกมากกว่าเด็กผ่าคลอด และพรีไบโอติกในซินไบโอติกจะเป็นอาหารที่ช่วยให้โพรไบโอติกเติบโต การเร่งคืนภูมิต้านทานให้กับเด็กผ่าคลอดด้วยการให้ลูกดื่มนมแม่ที่มีซินไบโอติกจึงช่วยเสริมภูมิต้านทาน เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ให้กับเด็กผ่าคลอดได้ และการที่ลูกได้ดื่มนมแม่โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก จะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ลูกได้ดีที่สุด ซึ่งสามารถให้ต่อเนื่องได้นานถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพราะในช่วง 2 ขวบปีแรกยังเป็นช่วงที่ระบบภูมิต้านทานยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่แม่ไม่ควรละเลย ถึงแม้ลูกจะอายุ 1-2 ขวบแล้วก็ยังมีความต้องการซินไบโอติกอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน