12 เรื่องเกี่ยวกับเบบี๋ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ !!

05 November 2017
3162 view

12 เรื่องเกี่ยวกับเบบี๋

เด็กจะสามารถได้ยินเสียงสิ่งแวดล้อมรอบด้านได้ก่อน เนื่องจากตอนอยู่ในท้องแม่ช่วงอายุครรภ์เข้าเดือนที่ 7 พัฒนาการของหู และการได้ยินของทารกสมบูรณ์ดีแล้วตั้งแต่ในครรภ์ ทั้งยังมีความรู้สึกร้อน หนาว รวมถึงได้กลิ่น โดยจะร้องไห้เป็นสัญญาณบอกให้คุณแม่ทราบว่ารู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเกิดความเปียก แฉะ หรือรู้สึกหิวนม เรื่องราวของ เด็กแรกเกิด ยังมีอีกหลายอาการที่คุณแม่ควรรู้ เพื่อพร้อมที่จะรับมือ จะมีอาการอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

1. เสียงร้อง ฟังคล้ายกันหมด

เสียงร้องของเด็กจะมีความแตกต่างกัน และบ่งบอกความต้องการของลูกได้ แต่ถ้าลูกร้องทีไรก็เสียงเดียวกันหมด นั่นเป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกๆ คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกแบบนั้น แต่อย่ากังวล เพราเวลาจะช่วยทำให้สามารถแยกแยะเสียงได้เอง ลองตอบสนองลูกขั้นพื้นฐานไปเรื่อยๆ สักพักก็รู้ใจกันเอง

2. มีจุดนิ่มๆ บนหัวของลูกน้อย

สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจตกใจ เมื่อเห็นจุดตรงกลางหัว ซึ่งอยู่เลยหน้าผาก ขึ้นไปมีลักษณะนิ่มๆ บุ๋มโบ๋วลงไป นั้นเรียกว่า กระหม่อม โดยเด็กทารกแรกเกิดจะเป็นทุกคน ซึ่งสาเหตุที่กระหม่อมลูกยังนิ่มอยู่นั้นก็เพราะก่อนคลอด ศีรษะของทารก จะมีลักษณะเป็นแผ่นกระดูกหุ้มสมอง สามารถหดชิดยืดหยุ่นเข้ามาหากันได้ ทำให้ศีรษะของทารกผ่านช่องคลอดออกมาได้ง่ายในระหว่างที่แม่เบ่งคลอดนั้นเอง 

3. ถีบเก่ง

ถีบแข้งถีบขาของทารกในช่วงแรกเกิด เป็นเพราะลูกจะมีพื้นที่ในการดิ้น หรือเคลื่อนไหวแขนขามากกว่าตอนอยู่ในท้องแม่ แต่ก็ยังบังคับกล้ามเนื้อแขนขาไม่ถนัดได้เมื่อคลอดออกมา จึงยกสะเปะสะปะไปเรื่อยอาจดูเหมือนกับลูกกระตุกหรือสะดุ้งตลอดเวลา แต่อาการนี้จะลดลงเองภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะค่อยๆ หายไปภายใน 3 เดือน

 

4. มีหน้าตาตลก ไม่น่ารักเหมือนในหนังสือ

หน้าตาที่ดูแปลกและตลกของทารกแรกเกิดนั้น เป็นเพียงมายาคติ เพราะแท้ที่จริงแล้วเด็กแรกเกิดสัดส่วนจะดูแปลกตากว่าที่คุณเคยเห็น เพราะกว่าจะออกมาได้เด็กต้องเดินทางผ่านกระดูกเชิงกรานซึ่งกระดูกตรงกะโหลกศีรษะที่ยังปิดไม่สนิท จะทำการเปลี่ยนรูปชั่วคราวเพื่อสะดวกต่อการคลอด และไม่เป็นอันตรายต่อสมองน้อยๆ ของทารกด้วย ลูกน้อยจะค่อยๆ เต่งตึง ดูน่ารักน่าชังได้ในอีก 1-2 สัปดาห์

 5. ร้องไห้ไม่หยุด หรือร้องไห้นานในช่วงเวลาหนึ่ง

การร้องไห้ของทารกเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ทารกจะบอกกับแม่ได้ว่าเขาต้องการอะไร ทั้งนี้สาเหตุของการร้องไห้อาจเกิดจากเพราะความไม่คุ้นกับการอยู่ในที่โล่งๆ หลังจากอยู่ในครรภ์มานาน

6. สะอึกตลอดเวลา

คุณแม่อาจสังเกตว่า ทำไมลูกน้อยถึงมีอาการสะอึกบ่อย และเป็นเวลานาน ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่สามารถให้เหตุผลได้ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ คือน่าจะมาจากการที่สมองของลูกน้อย และกล้ามเนื้อกระบังลมยังทำงานร่วมกันได้ไม่ดีเท่าที่ควรนัก โดยการสะอึกมักพบหลังจากลูกอิ่มนม และเมื่อเด็กสะอึกไปซักพักก็จะหยุดหายไปเอง ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด 

7. อึเหลวออกมาทุกครั้ง

อาการถ่ายเหลวของทารกแรกเกิดหลังกินนมเสร็จ ซึ่งคุณแม่มือใหม่อาจกังวลว่า ลูกท้องเสียหรือไม่ แต่นั้นถือเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กที่กินนมแม่ โดยภายใน 1-2 วันแรก ลูกอาจจะถ่ายไม่บ่อยเพียงแค่วันละ 1-2 ครั้ง และอุจจาระจะเหนียวมีสีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิน หรือเรียกว่า ขี้เทา ซึ่งหากลูกขับถ่ายขี้เทาได้ดีในวันแรกๆ ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าทารกได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่อย่างพอเพียงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดตัวเหลือง

8. จามบ่อย

การจาม โดยปกติเกิดจากการเป็นหวัด แต่สำหรับการจามบ่อยๆ ในทารกแรกเกิดเป็นเพราะเด็กกำลังทำให้ทางเดินหายใจของตัวเองโล่ง ซึ่งหลังจากที่คุณแม่ให้นมลูกเสร็จแล้ว อาจสังเกตเห็นว่าลูกมักมีอาการจามออกมา นั้นเป็นเพราะทารกไม่สามารถหายใจทางปากได้ และมีรูจมูกที่เล็กนิดเดียว เมื่อต้องดูดนมก็ต้องกลั้นหายใจเป็นจังหวะ ทำไมต้องจามออกมาเพื่อให้หายใจสบาย ซึ่งหากคุณแม่สังเกตเห็นการจามของทารกว่าไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างน้ำมูกหรือไข้ขึ้น ก็คงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

9. ผิวหนังลอก

อาการผิวหนังลอกของเด็กทารกแรกเกิด เป็นเพราะเมื่อคลอดออกมา ไขมันที่เคลือบอยู่ที่ผิวหนังตอนที่ลูกอยู่ในท้องจะหลุดออกด้วย ทำให้ผิวหนังชั้นนอกแห้งและเริ่มลอก เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอกท้องแม่ และในช่วง 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังเก่าของลูกนั้นก็จะหลุดลอกออกมาพร้อมกับมีผิวหนังใหม่ที่ใสกว่า เต่งตึงกว่า ขึ้นมาแทนที่ ทั้งนี้คุณแม่ต้องระวังอย่าเผลอไปแกะ ดึง หรือขัด 

10. มีสิวเม็ดเล็กๆ และผื่นขึ้น ทั้งหน้า ทั้งตัวเต็มไปหมด

เม็ดผดเล็กๆ ที่คุณแม่เห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่ทารกต้องมี โดยลักษณะผื่นจะเป็นตุ่มขาวๆ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่ตกค้างของแม่ หรือบางครั้งคุณแม่อาจเห็นเป็นลักษณะคล้ายสิวซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกัน แต่มีการอักเสบมากกว่า โดยผื่นทั้ง 2 ประเภทนี้มักจะขึ้นที่ใบหน้าของทารก บริเวณแก้ม จมูก และหน้าผาก และจะหายไปเองตอนลูกน้อยอายุราว 6 สัปดาห์

11. มีบางเวลา เหมือนลูกหยุดหายใจ

คุณแม่อาจสังเกตเห็นในขณะที่ลูกนอน บางครั้งเหมือนลูกหยุดหายใจ นั้นเป็นเพราะกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจของทารกยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การกระเพื่อมของทรวงอกจึงมีน้อย และเมื่ออายุประมาณ 6 สัปดาห์ การหายใจของลูกจะชัดขึ้นเอง แต่หากคุณแม่สังเกตเห็นอีกว่าลูกหยุดหายใจเกิน 20 วินาที นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตราย คุณแม่ต้องรีบพาไปพบหมอด่วน

12. สำหรับเด็กผู้ชาย อาจมีลูกอัณฑะใหญ่เกินตัว

ลักษณะลูกอัณฑะที่ดูใหญ่เกินตัวลูกไป ทั้งนี้เป็นเพราะฮอร์โมนจากแม่ ซึ่งอยู่ในร่างกายและเนื้อเยื่อของเด็กยังถูกขับออกมาไม่หมด จึงทำให้เด็กผู้ชายมีอัณฑะที่ดูใหญ่ ส่วนเด็กผู้หญิงก็อาจมีลักณะอวัยวะเพศดูบวมๆ เต่งออกมาในช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งถ้าลูกไม่ร้อง ไม่เจ็บหรือมีอาการอักเสบ ก็สามารถสบายใจได้

สำหรับคุณแม่ลูกอ่อนมือใหม่ ก็อาจจะได้พบกับพฤติกรรมที่ไม่คุ้นชินของลูกน้อยแตกต่างจากในช่วงที่ตัวเองเป็นคนท้อง พฤติกรรมหลังที่ทารกคลอดออกมานั้น เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรรู้และเตรียมพร้อมรับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดความเหนื่อยในการเลี้ยงดูพวกเขาในช่วงแรกได้เพียงแค่ให้เข้าใจถึงสัญญาณ อาการที่เด็กพยายามสื่อสารกลับมาเท่านั้นเอง Mamaexpert จะคอยเป็นกำลังใจให้คุณแม่นะค่ะ สู้ๆค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด

2. การปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอด

3. คลอดลูกแบบไหนปลอดภัยกว่า

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team