ลูกน้อยขยี้ตา ระวังโรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก โรคใกล้ตัวที่คุณแม่ควรรู้

21 September 2017
40150 view

เยื่อบุตาอักเสบในเด็ก

โรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็กหรือเรียกอีกอย่างว่า โรคตาแดง คือ อาการที่เยื่อบุตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดใต้เยื่อบุตา (conjunctiva) เนื่องจากการอักเสบ โรคตาแดงอาจจะเป็น แบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรัง ส่วนใหญ่โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เยื่อบุตาอักเสบ เพราะ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย เพศชายและเพศหญิงพบได้เท่าๆกัน เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับหวัด ใครจะเป็นก็ได้ แต่เนื่องจากในเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อย ร่วมกับการดูแลตนเอง หรือการป้องกันการติดเชื้อไม่ดีพอ จึงทำให้เป็นโรคตาแดง ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

โรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็กติดต่อได้อย่างไร

เยื่อบุตาอักเสบหรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อโรคตาแดง แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

  1. ชนิดติดเชื้อ ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อจากการสัมผัส โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งเริ่มหยิบจับสิ่งของต่างๆ ได้เอง เชื้ออาจติดมากับมือ แล้วมาจับหน้า เอามือเข้าปาก หรือเอามือขยี้ตาทำให้ได้รับเชื้อ จึงเป็นสาเหตุที่เด็กเล็กๆ เป็นโรคตาแดงง่ายและเป็นมากกว่าผู้ใหญ่
  2. ชนิดไม่ติดเชื้อ อาจเกิดจากลูกน้อยมีโรคประจำตัวอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ มีอาการคันตา ทำให้ขยี้ตาบ่อยๆ จนเกิดการตาอักเสบและติดเชื้อตามมาภายหลัง หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในเปลือกตา เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการแพ้ยา ทำให้มีการระคายเคือง เผลอขยี้ตา จนเปลือกตาถลอกและเกิดการตาอักเสบหรือติดเชื้อได้

อาการของโรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก

1. อาการโรคตาแดงจากเชื้อไวรัส

ตาแดงทั้งสองข้าง เริ่มแรกจะพบที่ข้างเดียวก่อน และจะติดต่อไปยังตาอีกข้างภายในสัปดาห์แรกหลังการติดเชื้อจะพบอาการตาแดง ปวดตา มีการเคืองตา และน้ำตาไหลมีอาการต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโต และปวด เปลือกตา และเยื่อบุตาบวม และมีเลือดออกในช่วง 5-14 วัน จะอาการกลัวแสง มองแสงนานไม่ได้ มีอาการแสบตาหากสัมผัสแสง จากการอักเสบของกระจกตาลักษณะตาแดงจากการอักเสบจะหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่การอักเสบของกระจกตาอาจใช้เวลานานกว่าที่ 3-5 สัปดาห์

2. อาการโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย

ลักษณะอาการตาแดงจะเข้มมาก มีขี้ตาออกสีเหลืองหรือสีเขียว ซึ่งจะเกิดมากหลังการตื่นนอน มักทำให้ลืมตาไม่ขึ้นเนื่องจากขนตาบน และขนตาล่างติดกันจากขี้ตาที่ไหลออกมา  อาการอักเสบมักจะเกิดขึ้นทั้งสองข้างของตา มักพบไม่ค่อยมีอาการปวดตา เคืองตา และอาการขันตามาก ดังนั้น หากการเป็นโรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรียเมื่อตื่นนอนตอนเช้าจะพบว่าตาจะลืมไม่ขึ้น

3. อาการโรคตาแดงจากภูมิแพ้

อาการตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้จะไม่ค่อยทำให้ตาแดงมากนักเหมือนการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และไวรัส  ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อๆ และมีน้ำตาไหลออกมาในช่วงแรกๆ ซึ่งจะมีลักษณะใส ต่อมน้ำตาจะเหนียว  ไม่พบมีขี้ตา แต่จะมีอาการคันตามาก โดยเฉพาะตรงหัวตาทำให้ต้องขยี้ตาบ่อย ซึ่งการขยี้ตามากนี้เองมักจะทำให้เกิดการบวมซ้ำของเยื่อบุตา และการติดเชื้อตามมา อาการตาแดงจากภูมิแพ้มักจะเป็นๆหายๆในระยะเวลาสั้นๆไม่นานเหมือนอาการตาแดงจากการติดเชื้อ 

การรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก

อาการเยื่อบุตาติดเชื้อ อาจหายไปได้เองในเวลา 2-3 วันหรือ 1 อาทิตย์ ขี้ตาที่เกิดบริเวณเปลือกตาสามารถเช็ดออกได้ โดยใช้สำลีชุบน้ำ อาการระคายเคืองบนเยื่อบุตาติดเชื้อ ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน น้ำยาหยอดตาหรือขี้ผึ้ง สามารถช่วยรักษาอาการติดเชื้อเยื่อบุตาติดเชื้อได้ยาแก้แพ้สามารถช่วยรักษาอาการเยื่อบุตาติเชื้อเนื่องจากอาการแพ้ได้สำหรับเด็กแรกเกิดที่มีอาการเยื่อบุตาติดเชื้อควรพบแพทย์โดยด่วน

การป้องกันโรคเยื่อบุตาอักเสบในเด็ก

ตาแดงจากการติดเชื้อติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสขี้ตา น้ำตาของผู้ป่วย ไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหมอนใบเดียวกันกับผู้ป่วยซึ่งอาจมีคราบน้ำตาหรือขี้ตาเปื้อนอยู่ ไม่ใช้ภาชนะหรือของใช้ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นตาแดง  การพูดคุยกันไม่ได้ทำให้เกิดการติดต่อ แต่ถ้าคนที่เป็นตาแดงและมีอาการหวัดร่วมด้วย ไอหรือจามใส่หน้าเรา อาจทำให้เราติดหวัดซึ่งอาจมีอาการตาแดงร่วมด้วย

ตาแดงจากการติดเชื้อ สามารถติดต่อกันได้ในระยะตั้งแต่เริ่มมีอาการจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 สัปดาห์ เด็กๆมักจะหายเร็วกว่าผู้ใหญ่ หากลูกเป็นตาแดงจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆควรให้หยุดเรียน เนื่องจากยังระวังเรื่องการสัมผัสได้ไม่ดีนัก

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. นมแม่รักษาตาอักเสบได้ จริงเท็จแค่ไหน?

2. วิธีรับมือเมื่อลูกร้องไห้กลางคืน

3. สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ เมื่อลูกตื่นมาร้องไห้ตอนกลางคืน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. เยื่อบุตาอักเสบ. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/yZxBkP. [ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560].
  2. โรคตาแดง. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/Tp7aGc. [ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560].
  3. นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. นศภ. ประพัทธิ์ เก่งอนันตานนท์. ตาแดงสัญญาณเตือนภัยใกล้ตัว. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/bDCXh2. [ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560].
  4. Conjunctivitis. เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Conjunctivitis. [ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560].