โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กหรือโรคหูน้ำหนวกภัยร้ายใกล้ตัวลูกน้อย ที่พ่อแม่ควรรู้

20 September 2017
8508 view

โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคหนูน้ำหนวก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบได้มากในทารกและเด็กเล็ก (4 เดือนถึง 4 ขวบ) เนื่องจากภูมิต้านทานยังน้อยและยังเจริญไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่ไม่ได้กินนมมารดาการสัมผัส คลุกคลีกับบุคคล และสถานที่ต่าง ๆ จึงเกิดภาวะติดเชื้อ เป็นหวัดได้บ่อย ซึ่งจากโรคหวัดที่เป็นลุกลาม ก็มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังท่อปรับความดันหูชั้นกลาง มีผลทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้

โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเกิดจากสาเหตุอะไร

เป็นโรคอันตรายที่พบบ่อยในเด็กเล็กซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอ สองเชื้อร้ายนี้เป็นเชื้อที่พบได้ในลำคอหรือโพรงจมูกของเด็กๆ หากเด็กได้รับเชื้อจนกระทั่งเชื้อเติบโตและแพร่กระจายก็อาจทำให้เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน และยังพบว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้ในคอหรือโพรงจมูก หรือเชื้อไวรัส (มักมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ) หรือ เกิดจากโรคภูมิแพ้ และเมื่อเชื้อกระจายตัวสู่ท่อยูสเตเชี่ยนจนมีน้ำหนองไหลซึมออกมาก็อาจทำให้เยื่อแก้วหูทะลุได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เด็กมีปัญหาต่อการได้ยิน และเป็นโรคอันตรายที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ผีในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือทำให้เด็กมีปัญหาในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านต่างๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

  1. การสูดควันบุหรี่
  2. มีภูมิต้านทานน้อยหรือไม่ดี เช่น ในทารกที่ไม่ได้กินนมมารดา
  3. ภาวะที่ท่อยูสเตเชียนอุดตัน เช่น เป็นไข้หวัด การใส่สายป้อนอาหารทางจมูก
  4. ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
  5. การเลี้ยงลูกด้วยนมขวด การใช้จุกนมปลอม การนอนหงายดูดนม
  6. การส่งเด็กไปเลี้ยงที่ศูนย์เลี้ยงเด็ก
  7. การสั่งน้ำมูกแรง ๆ การดำน้ำ การว่ายน้ำ ในขณะที่มีการอักเสบในโพรงจมูกหรือโพรงหลังจมูกจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น

อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

  1. โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากเป็นไข้หวัด เจ็บคอ หรือเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยจะมีอาการปวดในรูหู หูอื้อ การได้ยินลดลง มีไข้สูง หนาวสั่น และบางรายอาจมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเดินได้ด้วย ส่วนในทารกและเด็กเล็กจะมีอาการตื่นขึ้นร้องกวนเวลากลางดึกด้วยอาการเจ็บปวดหู และร้องไห้งอแงเกือบตลอดเวลา บางรายอาจเอามือดึงใบหูตัวเองข้างที่ปวด เด็กมักจะมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักเนื่องจากไข้สูง และเด็กมักมีอาการของไข้หวัดหรือมีอาการไอร่วมด้วย

  1. โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง สำหรับเด็กที่เป็นหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เด็กมักจะไม่ค่อยมีอาการแสดงออกชัดเจน ยกเว้น หูอื้อ หรือ มีการได้ยินลดลง หรือ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ พ่อแม่จะมาปรึกษาด้วยปัญหาว่า ลูกชอบพูดเสียงดังหรือเปิดโทรทัศน์เสียงดัง  เรียกไม่ค่อยได้ยิน   ตรวจหู จะเห็น แก้วหูมีสีเหลืองหรือสีทึบกว่าปกติบางครั้งจะเห็น ฟองอากาศ ในหูชั้นกลางได้  ตรวจการได้ยินที่เรียกว่า audiogram เพื่อวัดระดับการได้ยิน ส่วนใหญ่จะสูญเสียระดับการได้ยินประมาณ 27 dB. และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ตามมา เช่น ใบหน้าเป็นอัมพาต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง และติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

การรักษาหูชั้นกลางอักเสบ คือ การให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล อีริโทรไมซิน เป็นต้น ซึ่งมักจะให้ติดต่อกันนานอย่างน้อย 10-14 วัน ร่วมกับยาแก้ปวด ลดบวม และรักษาโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของหูอักเสบร่วมไปด้วย เช่น จมูกหรือไซนัสอักเสบ หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัดเจาะเยื่อแก้วหู ผ่านทางรูหู เพื่อดูดน้ำในหูชั้นกลางออกและใส่ท่อปรับความดันไว้ในแก้วหู

วิธีป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

  1. ควรให้ทารกกินนมมารดาอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ
  2. หลีกเลี่ยงการใช้จุกนมปลอม เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหูชั้นกลางอักเสบประมาณ
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเด็กที่ได้รับควันบุหรี่จะมีอัตราป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจได้สูงกว่าปกติที่จะนำไปสู่หูชั้นกลางอักเสบได้
  4. เวลาเด็กดื่มนมและรับประทานอาหารพยายามให้ลูกของท่านอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูงกว่าลำตัว
  5. ระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหูและบริเวณใกล้เคียง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุและฉีกขาดได้
  6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เป็นไข้หวัด และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ. โรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กภัยร้ายใกล้ตัวที่พ่อแม่มักละเลย. เข้าถึงได้จาก https://www.clipmass.com/story/35677. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
  2. รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ศาสตราจารย์คลินิกครรชิตเทพ ตั่นเผ่าพงษ์. รู้จักโรคหูน้ำหนวก. เข้าถึงได้จาก http://med.mahidol.ac.th/ramachannel/old/index.php/knowforhealth-20141209-4/. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
  3. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute Otitis Media)”. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน. เข้าถึงได้จาก  www.si.mahidol.ac.th.  [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
  4. หูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก). เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/owFgoN. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
  5. โรคร้าย หูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็ก. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/PTRRhk. [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน 2560].
  6. Muhammad Waseem. Otitis Media. เข้าถึงได้จาก http://emedicine.medscape.com/article/994656-overview. [ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560].