รู้ทัน...โรคสะเก็ดเงินในเด็ก โรคกรรมพันธุ์ที่ใครๆ ก็ไม่อยากเป็น

19 September 2017
8998 view

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดการอักเสบบนผิวหนัง จะมีอาการเป็นผื่นปื้นแดง มีสะเก็ดขุยหนาหลุดลอก สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อแบคทีเรีย และภาวะความเครียด โรคนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจมีสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และกลุ่ม metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น

โรคสะเก็ดเงินในเด็ก โรคกรรมพันธุ์ที่ต้องระวัง!!!

ในเด็กสามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก ส่วนมากจะพบในกลุ่มผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุในช่วงอายุ 50-60 ปี จะพบได้มากที่สุด เพราะในวัยผู้ใหญ่มีการสะสมความเสื่อมสภาพของร่างกายและการเสียสมดุลมากกว่าวัยเด็ก รวมทั้งส่วนใหญ่จะมีความเครียดมากกว่าเด็กจึงกระตุ้นให้อาการต่างๆแสดงออกมาในวัยผู้ใหญ่มากกว่าวัยเด็ก เเละโรคสะเก็ดเงินในเด็กส่วนใหญ่เริ่มมีผื่นขึ้นตอนอายุประมาณ 7-10 ปี

อาการของโรคสะเก็ดเงินในเด็ก

อาการของโรคสะเก็ดเงิน จะมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ผิวหนังส่วนศีรษะ เล็บ และข้อ อาการแบบเป็นๆ หายๆ ที่ผิวหนัง ตอนเริ่มกำเริบใหม่ๆ จะเป็นตุ่มแดง มีขุยสีขาวสีเงินอยู่ที่ผิว ต่อมาตุ่มจะค่อยๆขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่ๆ หนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้น จะเห็นเป็นเกล็ดสีเงิน ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการรุนแรงที่แตกต่างกันไป บางรายอาจมีผื่นขึ้นเฉพาะที่ ไม่ลุกลามออกไป แต่ในบางรายอาจทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปถ้าเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อยก็จะมีโอกาสเกิดความรุนแรงมากขึ้นได้ 

ลักษณะของโรคสะเก็ดเงินในเด็ก

  1. ผื่นรูปหยดน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก มักมีประวัติด้านเจ็บคอก่อนที่ผื่นจะขึ้น
  2. ผื่นนูน เป็นลักษณะผื่นเเดง มีขอบนูนชัด เเละอาจมีขุยขาวๆปกคลุม ถ้าลอกสะเก็ดออกจะมีเลือกออก
  3. ผื่นเเดงหนา เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด เป็นผื่นแดงหนา ขอบชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงิน เกิดขึ้นได้ทั้งตัว
  4. ผื่นเป็นตุ่มหนอง เป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย
  5. สะเก็ดเงินบริเวณผ้าอ้อม พบบริเวณซอกพับ บริเวณขาหนีบ มักพบในทารกเเละเด็กเล็ก ผื่นมีสีเเดงสด ขอบชัด สะเก็ดหนา
  6. ผื่นที่เล็บ ลักษณะเป็นหลุมขนาดเล็ก เเละเล็บอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล
  7. ผื่นที่ศีรษะ ลักษณะเป็นผื่นเเดง บริเวณหนังศีรษะ อาจมีขุยหนาสีเหลือง คล้ายรังเเค โดยผื่นเเดงจะลามออกมานอกเเนวไรผม ถ้าไม่ได้รับการรักษาสะเก็ดจะหนาเเละอาจทำให้ผมร่วง

การรักษาโรคสะเก็ดเงินในเด็ก

การรักษาในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาใหม่ ๆ ทั้งยาทาและยารับประทานที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมาก  โดยวิธีรักษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

  1. ผื่นเป็นน้อย ผื่นผิวหนังอักเสบไม่เกิน ร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวหนัง  จะใช้ยาทาเป็นหลัก  ยาทากลุ่ม สเตียรอยด์  เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง  ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้ ราคาไม่แพงนัก และไม่ระคายเคือง ถ้าใช้ในระยะสั้นมักจะไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง แต่ถ้าใช้สเตียรอยด์ชนิดแรงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวขาว และการดื้อยา นอกจากนั้นโรคยังกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวควรจะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าจะซื้อใช้เองต้องมีความรู้เรื่องยาสเตียรอยด์เป็นอย่างดี
  2. ผื่นเป็นมาก ผื่นผิวหนังอักเสบเกิน ร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่ผิวหนัง จำเป็นต้องใช้ยารับประทานและใช้แสงแดดเทียมในการรักษา ข้อจำกัดที่สำคัญของการใช้ตู้แสงแดดเทียมคือ คนไข้ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 เดือนติดต่อกัน

โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ หากผู้ป่วยและคนรอบข้างมีความรู้และความเข้าใจ รวมถึงการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง จะสามารถควบคุมโรคได้เเละช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. กายภาพบำบัด.เเพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ. “โรคสะเก็ดเงินในเด็กและการดูแลรักษา”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/hYg38e .[ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน2560]
  2. หัวหน้าสาขาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.รองศาสตราจารย์ ณัฎฐา รัชตะนาวิน. “รู้เท่าทันโรคสะเก็ดเงิน”.เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/QOL/detail/9560000136506 . [ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน2560]
  3. ภาควิชาวิชาตจวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม. “สู้หรือถอยเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน”.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=706 .[ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน2560]
  4. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. ผศ. พญ. ชนิษฎา วงษ์ประภารัตน์.ภาควิชาตจวิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “โรคสะเก็ดเงิน”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/H8ohrf.[ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน2560]

ภาพจาก :

  1. https://goo.gl/o4xEZL.[ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560]
  2. https://goo.gl/RVtb97.[ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560]
  3. https://goo.gl/yfMGBk.[ค้นคว้าเมื่อ 18 กันยายน 2560]