ทำไมลูกไอ เมื่อลูกไอแม่ควรทำอย่างไรดี?

21 July 2017
3858 view

ทำไมลูกไอ 

ทำไมลูกไอ เป็นคำถามที่คุณแม่หลายคนสงสัย และพยายามหาคำตอบอยู่เสมอว่าเกิดจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มาค่ะ...มาหาคำตอบกันเลย แท้จริงแล้วลูกไอ เกิดจากอะไรกันแน่!!!

ทำไมลูกไอ อาการไอเกิดจากอะไร

คุณแม่หลายคนอาจซีเรียสจนเกินไปและแอบเข้าใจผิดๆว่าอาการไอนั้นอันตราย แต่ความจริงแล้ว ความอาการไอของลูกเป็นเพียงอาการแสดงอย่างหนึ่งไม่ใช่เป็นโรค เป็นอาการที่บอกว่ามีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้นภายในระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรืออะไรเข้าไปทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ภายในบริเวณคอ หลอดลม หรือลึกลงไปจนถึงกิ่งแขนงของหลอดลม ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาป้องกันตัวเองโดยการไอเพื่อขับเอาสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองนั้นออกมา อาการไอจึงเป็นอาการตอบสนองของร่างกายคนเราที่มีประโยชน์ ซึ่งโดยมากแล้วอาการไอในเด็กมักเกิดจากการเป็นหวัดแล้วน้ำมูกไหลลงไประคายคอหรือเกิดจากคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ พออาการหวัด น้ำมูกไหลหายหรืออาการอักเสบดีขึ้น อาการไอก็จะหายไปเอง

ทำไมลูกไอเรื้อรัง ไม่หายขาดสักที

อาการไอเรื้อรังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 ไอเป็นๆหายๆ โดยมักมีอาการไอเป็นอยู่ระยะหนึ่งแล้วหายไป แล้วกลับมาไออีกเป็นๆหายๆเป็นระยะๆ สาเหตุก็มักจะเนื่องจาก

  • เป็นหวัดเป็นๆหายๆ พอเป็นหวัดแต่ละครั้งก็เกิดอาการไอเนื่องจากน้ำมูกไหลลงไปในคอ หรืออาจไหลลึกลงไปในหลอดลม ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในลำคอหรือหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอเพื่อขับเอาน้ำมูกหรือเสมหะนั้นออกมา
  • เด็กบางรายโดยเฉพาะ เด็กเล็กอาจมีระบบการกลืนอาหารที่ยังทำงานไม่ดีพอ ทำให้เกิดการสำลักได้เวลาทานอาหาร
  • เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด 

ประเภทที่ 2 ไอเรื้อรัง จะมีอาการไอเป็นเวลานานติดต่อกันไม่หายเลย มักจะมีสาเหตุเนื่องจาก

  • หลอดลมอักเสบโดยเฉพาะโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอกรน ปอดบวม หรือสำลักเอาสิ่งแปลกปลอม เช่น นม อาหารอื่นๆ เช่น ข้าว เม็ดถั่วหรือเมล็ดผลไม้ประเภท น้อยหน่า ละมุด ลำไย ลงไปคั่งค้างอยู่ในระบบทางเดินหายใจ 
  • วัณโรคปอด 
  • โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบหรือหอบหืด 
  • การสูบบุหรี่ บางรายไอมานานๆ จนในที่สุดติดเป็นนิสัยเหมือนว่ามีอะไรติดคอต้องคอยกระแอมไอเพื่อพยายามเค้นเอาเสมหะออกมาให้ได้ ทั้งๆที่อาจจะไม่มีอะไรเลย

ทำไมลูกไอ จะทราบได้อย่างไรว่าลูกไอครั้งนี้ มีสาเหตุจากอะไร

คุณแม่พอจะสันนิษฐานได้อย่างคร่าวๆ จากประวัติของตัวลูกหรือคนในครอบครัว เช่น

  • ถ้ามีประวัติภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หอบหืด หรือวัณโรคในครอบครัว อาการไอของลูกหรือของเราก็อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ได้
  • หรือถ้าเกิดอาการไอทันทีทันใดขณะรับประทานอาหารหรือสำลักอาหาร ก็ควรคิดถึงสาเหตุจากการสำลักเอาสิ่งแปลกปลอมหรืออาหารเหล่านั้นเข้าไปในหลอดลม หรือในปอด
  • ในรายที่สูบบุหรี่ก็อาจเกิดจากการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ลักษณะการไอและเวลาที่เกิดอาการไอก็พอจะช่วยให้ทราบถึงสาเหตุของการไอนั้นได้ เช่น ถ้าลักษณะไอแบบมีเสมหะสีเหลือง เขียว เหม็นเหมือนหนองก็จะบ่งบอกถึงอาการไอที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลม หรือปอดบวม หรือเป็นฝีหนองในปอดได้
  • ถ้าไอเป็นเลือดก็อาจเกิดจากการไอมากจนเส้นเลือดฝอยที่คอหรือระบบทางเดินหายใจแตกทำให้มีเลือดปนออกมากับเสมหะหรือเกิดจากวัณโรคปอดก็ได้ ถ้ามีอาการไอก้องๆเหมือนสุนัขเห่า หรือที่ทางหมอเรียกว่า BARKING COUGH ก็เกิดจากกล่องเสียงอักเสบ
  • ในรายที่เด็กเป็นโรคไอกรนจะมีอาการไอนานจนครบ 100 วัน อาการไอก็จะหายไปจนบางคนเรียกว่าโรคไอ 100 วัน ลักษณะการไอก็จะไอติดๆกันเป็นชุดจนหน้าดำหน้าแดง แล้วพอหยุดไอก็จะหายใจเข้าแรงๆสักครั้งหนึ่งจนเสียงดังวู้บ เหมือนเวลาคนนอนกรน จึงเรียกว่าโรคไอกรน ซึ่งบางครั้งก็อาจมีเชื้อไวรัสบางตัว ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ แล้วมีอาการไอคล้ายกับโรคไอกรนได้ ซึ่งหมอจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคคล้ายไอกรน
  • ในรายที่มีอาการไอมากตอนเวลากลางคืนหรือเวลานอนก็มักจะเกิดจากโรคภูมิแพ้ จะเกิดอาการไอมากเวลาอากาศเย็น หรือถ้าเกิดจากโรคไซนัสอักเสบ เวลานอนจะมีน้ำมูกไหลย้อนลงไปในคอทำให้เกิดอาการไอมากเวลานอน คนที่ไอมากตอนเช้าอาจเกิดจากเป็นหวัดมีน้ำมูกตอนเช้าหรือจากหลอดลมอักเสบเรื้อรังก็ได้

นอกจากนี้ยังมีบางรายไอมากเวลาออกกำลังกายก็อาจเกิดจากเป็นโรคหอบหืดที่มีอาการเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อเวลาออกกำลังกาย (EXERCISE INDUCED ASTHMA)

จะเห็นได้ว่าประวัติของตัวลูกหรือคนในครอบครัวที่เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคติดต่อ เช่น วัณโรค ตลอดจนลักษณะและระยะเวลาที่เกิดอาการไอ ว่าเกิดไอขึ้นเมื่อใด อย่างไร ไอมีเสมหะไหม เสมหะมีลักษณะและสีอะไร ก็จะช่วยให้หมอพอสันนิษฐานได้ง่ายขึ้นว่าอาการไอนั้นควรมีสาเหตุจากอะไร ดังนั้นทุกครั้งที่ลูกมีอาการไอจึงควรสังเกตประวัติและลักษณะต่างๆตามที่หมอได้แนะนำเอาไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

ทำอย่างไรดีเมื่อลูกไอ

ก่อนอื่นควรสังเกตดูอาการไอของลูกนั้นรุนแรงหรือไม่ ถ้าหากมีอาการรุนแรงหรือมีอาการอื่นร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรรีบพาลูกไปปรึกษาแพทย์

1. มีไข้ร่วมด้วยเป็นเวลานานมากกว่า 2-3 วัน
2. ลูกมีอาการซึมลง เหนื่อย เล่นหรือกินน้อยลง
3. มีอาการหอบหรือหายใจแรง ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่หายใจเร็วหรือแรงกว่าปรกติ เช่น มีอาการจมูกบานพะเยิบพะยาบเวลาหายใจเข้าออก ซี่โครงบานหรือหน้าอกบุ๋ม
4. เล็บมือ เล็บเท้า หรือริมฝีปากเขียว ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการหายใจไม่พอ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน
5. ไอแบบมีเสมหะ โดยเฉพาะเสมหะมีสีเขียวเหลืองเหมือนหนอง กลิ่นเหม็น หรือมีเลือดปน
6. ลูกผอมลง น้ำหนักลด ร่างกายไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

แต่ถ้าหากลูกไอเล็กน้อยไม่มีอาการรุนแรงดังกล่าว ก็อาจให้การรักษาตามอาการเช่น ให้กินน้ำมากๆ เนื่องจากน้ำเป็นยาแก้ไอที่ดีที่สุดขนานหนึ่งหรือถ้าลูกมีน้ำมูก อาจให้กินยาลดน้ำมูก ลองรักษาตามอาการเช่นนี้ดูสัก 2-3 วัน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรพาไปปรึกษาแพทย์





ลูกไอควรให้ลูกทานยาแก้ไอไหม


ความจริงแล้ว การรักษาอาการไอที่ดีและถูกต้องที่สุดคือการรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอ ส่วนยาแก้ไอนั้นเป็นเพียงช่วยบรรเทาอาการ ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ เวลาจะใช้ยาก็ควรใช้ด้วยความระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่ควรใช้ยาที่มีฤทธิ์กดอาการไอ ได้แก่ DEXTROMETROPHAN, CODEINE โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก และในรายที่ไอแบบมีเสมหะ เพราะจะทำให้เสมหะไม่สามารถถูกขับออกมา เกิดคั่งค้างอยู่ในระบบทางเดินระบบหายใจ หรือในปอดเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นอันตรายขึ้นมาภายหลังได้ ทางที่ดีจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาแก้ไอประเภทนี้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง : คลินิคหมอสังคมรศ. นพ. สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ อดีตหัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย