เคล็ดลับการเลี้ยงลูก : วิธีปราบลูกวัยรื้อของ ขว้างปาของ ตามเทคนิคของจิตแพทย์

25 November 2016
18685 view

วิธีปราบลูกวัยรื้อของ

สารพันปัญหาเลี้ยงลูกวัยเตาะแตะ ซนมาก จัดการยาก คุณแม่หลายบ้านอาจรับมือไม่ไหว จำเป็นต้องพึ่งจิตแพทย์เพื่อเรียนรู้การแก้ปัญหา วันนี้ mamaexpert นำบทความจากจิตแพทย์ชื่อดัง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกวัยซนและจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง ไม่เครียด ตัวอย่างเคสดังนี้  "ลูกน้อยวัย 3 ขวบ รื้อของเล่นมาเล่น โยนทิ้ง ขว้างไปทั่วบ้าน พอบอกให้ช่วยกันเก็บ ลูกก็ไม่สนใจ พอเราเริ่มดุ เขาก็ร้องไห้งอแง สุดท้ายเลยต้องมานั่งเก็บเอง" คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยนี้ควรจัดการปัญหานี้อย่างไร


วัย 3 ขวบ หรือ วัยautonomy จัดการ ปราบความซนอย่างไร 

​ลูกวัย 3 ขวบเป็นวัยกำลังพัฒนาความสามารถที่เรียกว่า autonomy เขาจะทดสอบว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง
​วัยนี้เขาเริ่มควบคุมการกินและการขับถ่ายได้แล้ว การกินและการขับถ่ายใช้กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลายบางส่วน กล้ามเนื้อเรียบอยู่นอกอำนาจของจิตใจ กล้ามเนื้อลายอยู่ในอำนาจของจิตใจ โดยทั่วไปเขาจะควบคุมกระบวนการกินและการขับถ่ายได้ค่อนข้างดีตั้งแต่ประมาณสองขวบครึ่งถึงสามขวบ พ้นจากนี้ขาสองข้างแข็งแรง ยืนได้และเดินได้ วิ่งได้ด้วย แขนสองข้างแข็งแรง หยิบได้ กำได้ ถัดมาคือตีได้ และปาได้ จะเห็นว่าฤทธิ์เดชมากขึ้นทุกที ยังไม่นับว่ากล้ามเนื้อคอสามารถสะบัดใบหน้าว่า “ไม่” ได้ด้วย ปิดปากแน่น เบือนหน้าหนี ไปจนถึงขย้อนออก ทำได้หมดเลย ปิดท้ายด้วยการพูดว่า “ไม่”

ขว้างของ ของเด็กอายุ 3 ขวบ เป็นเพียงเรื่องเดียวในหลายเรื่อง

​เรื่องขว้างของเล่นจึงเป็นเพียงเรื่องเดียวในหลายเรื่องที่เขาเพิ่งจะเริ่มทำได้ แรกๆก็ทดสอบพลังของตนเองว่าขว้างได้ไกลแค่ไหน สักพักก็จะทดสอบว่าเมื่อขว้างไปแล้วสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร นั่นคือคุณแม่จะว่าอย่างไรบ้างแล้วเขาก็ได้รับคำตอบว่าคุณแม่ชักสีหน้า บางครั้งเสียงเขียว และบางครั้งก็ก้มลงเก็บให้ด้วยอารมณ์ที่ไม่ดี เขาอาจจะฟังคุณแม่พูดรู้เรื่องว่า “เก็บเดี๋ยวนี้” แต่อย่ามั่นใจเกินไป เด็กบางคนอาจจะไม่เข้าใจชัดเจนนักว่าคุณต้องการอะไร แต่ที่แน่ๆคือเขาไม่ได้เพียงขว้างของได้ เขาทำได้มากกว่านั้นอีก นั่นคือ ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงได้
​วันหนึ่ง เขารู้ว่าคุณแม่ต้องการให้เขาช่วยเก็บ ถึงวันนั้นเขาจะยังทดสอบต่อไปว่าหากไม่เก็บคุณแม่จะทำอะไรต่อไป บ่นไปเรื่อยๆ พึมๆพำๆ สุดท้ายก็ก้มเก็บเองอยู่ดี ก็โอเคนี่นา ปากของคุณแม่ไม่มีอำนาจอะไรจะบงการเขาได้อยู่แล้วสรุปผลการทดลองได้ว่าคุณแม่ไม่มีน้ำยาหรือเปล่า

ลูกกำลังทดสอบแม่และสิ่งแวดล้อม หรือเปล่า 

​พอเราเริ่มดุ เขาร้องไห้ เมื่อเขาร้องไห้ คุณแม่ยิ่งว้าวุ่นหรือบ่นหนักยิ่งขึ้น แต่เขาก็ไม่ต้องเก็บของที่ปาไปอยู่ดีนั่นแหละ ดังนั้นปาของเสร็จให้นั่งเฉยๆ เมื่อแม่สั่งให้เก็บของให้พูดว่า “ไม่” แล้วเดินหนี ก็มีขาไว้เดินอยู่แล้ว เมื่อแม่โมโหมากยิ่งขึ้นให้ร้องไห้ ทุกอากัปกิริยาของเขาเป็นการทดสอบสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ว่าเขาทำอะไรได้บ้าง
​จะเห็นว่าเขาเพียงทำหน้าที่ตามพัฒนาการ ไม่มีเจตนาจะเป็นเด็กดื้อแต่อย่างใด

พ่อแม่ มีหน้าที่บอกหรือทำให้เขารู้ว่าเขาทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้

​เป็นเราที่มีหน้าที่บอกหรือทำให้เขารู้ว่าเขาทำอะไรได้ และทำอะไรไม่ได้ การบอก 1-2 ครั้งแล้วคาดหวังว่าเด็ก 3 ขวบจะเชื่อฟังแต่โดยดีเป็นความคาดหวังที่มากเกินไป เด็กแต่ละคนพัฒนาตนเองเร็วช้าต่างๆกัน บางคน 3 ครั้งและบางคน 10 ครั้งก็เป็นหน้าที่ของเราบอก หรือลงมือทำอะไรบางอย่างให้เขารู้ มิได้แปลว่าให้ตี มีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ เช่น เมื่อเห็นเขาทำท่าจะปาของ เราเข้าไปจับมือไว้แล้วพูดอย่างจริงจัง สีหน้าและน้ำเสียงเอาจริง โดยไม่ต้องดุ ว่า “ไม่ให้” ทำเช่นนี้ซ้ำๆจนกว่าจะรู้เรื่อง  หากเขาปาไปแล้ว เราไม่ควรสั่งเขาเก็บแต่ปาก ควรจูงมือเขาเดินไปเก็บด้วยกัน แล้วชื่นชมเขาว่าเราชอบที่เขาเดินมาเก็บ ทำซ้ำๆเช่นกันจนกว่าจะรู้เรื่อง ว่าปาไปก็ต้องเดินไปเก็บมาเข้าที่ นี่คือหลักการทำให้ดู จะเห็นว่าทั้งสองวิธีต้องการคุณแม่/คุณพ่อสละเวลาเดินเข้าไปจัดการตรงๆ และทันที

เป็นอย่างไรบ้างคะ จากบทความของคุณหมอข้างต้นนี้ คงเป็นแนวทางในการปราบลูกวัยขว้างของให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ได้อย่างละมุนละม่อม ในโอกาสต่อไป mamaexpert1 จะนำเคล็ดการเลี้ยงลูกวัยซนมากฝากคุณแม่อีกแน่นอน แล้วเจอกันค่ะ 

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team 

ขอบคุณบทความ  :  นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์