การเปิดเปลือกตัวอ่อนเพื่อช่วยในการฝังตัว (Assisted Hatching)

23 February 2012
1443 view

Assisted Hatching

ในธรรมชาติของมนุษย์ ไข่และตัวอ่อนระยะต่างๆ จะมีเปลือก (Zona Pellucida) ห่อหุ้มเซลล์ไว้ มีหน้าที่ช่วยป้องกันอันตรายให้ตัวอ่อนจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม  เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่ถึงระยะที่พร้อมจะเกิดการฝังตัว (Blastocyst) ตัวอ่อนจะเจาะเปลือกออกมาเพื่อฝังตัวในโพรงมดลูก แต่บางครั้งธรรมชาติก็เกิดความบกพร่อง ยังผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจาะเปลือกออกมาเพื่อฝังตัวได้เอง ด้วยวิวัฒนาการการรักษาและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทางห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน จึงมีวิธีช่วยให้การฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกเกิดได้ง่ายขึ้น โดยการช่วยทำให้เปลือกตัวอ่อนบางลงหรือทำการเปิดเปลือกตัวอ่อน (Assisted Hatching) บางส่วนให้นั่นเอง

การเปิดเปลือกตัวอ่อนเพื่อช่วยการฝังตัวทำได้หลายวิธี  ที่นิยมใช้คือ เป็น Laser Technique  นั่นคือการใช้เลเซอร์ทางการแพทย์ยิงเปิดเปลือกตัวอ่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ทันสมัย, ง่าย,  รวดเร็ว และไม่มีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อตัวอ่อน โดยปกติการเปิดเปลือกตัวอ่อนเพื่อช่วยการฝังตัว จะทำในตัวอ่อนระยะ Cleavage (Day 3) หรือ Blastocyst

กลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะสมที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่

  • ฝ่ายหญิงที่อายุมากกว่า 39 ปี ขึ้นไป
  • ฝ่ายหญิงที่มีระดับ FSH สูงในวันที่สามของรอบระดู
  • คู่สมรสที่ผ่านการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้วมาแล้วหลายครั้งแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
  • ในรายที่ตัวอ่อนมีความหนาของเปลือก > 15 ไมครอน และ/หรือ เป็นตัวอ่อนที่ผ่านการแช่แข็ง

เอกสารอ้างอิง

1. ร.ศ.น.พ. ธีระพร วุฒยวนิช . การช่วยฟักตัว ( Assisted Hatching ).เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ . เชียงใหม่.; 2546 หน้า 215-221