การกระตุ้นรังไข่ วิธีรักษาภาวะมีลูกยาก

04 February 2012
5998 view

การกระตุ้นรังไข่

การรักษาภาวะมีบุตรยากในปัจจุบันนี้มีวิธีการที่หลากหลาย โดยแต่ละวิธีก็จะเหมาะสมกับแต่ละคนต่างกันไป ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก อายุของคู่สมรส และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ในการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก ขั้นตอนแรกคือการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ซึ่งจำเป็นต้องตรวจทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเสมอ เพราะภาวะมีบุตรยากอาจเกิดจากสาเหตุจากทั้งสองฝ่ายร่วมกันได้ Mamaexpert จึงนำการกระตุ้นรังไข่ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มาให้ศึกษา ดังนี้

กระตุ้นรังไข่โดยการใช้ยาฉีด

การกระตุ้นรังไข่โดยใช้ยาฉีด แพทย์จะให้ชุดอุปกรณ์ฉีดยาเพื่อนำไปฉีดที่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องไปตรวจร่างกายกับแพทย์สม่ำเสมอเพื่อเช็คฮอร์โมนจนกว่าจะถึงระดับที่ตั้งเป้าไว้ วิธีการก็คือ ฉีดฮอร์โมน FSH ติดต่อกันหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ช่วงก่อนที่ผู้หญิงจะตกไข่ตามรอบเดือน ฮอร์โมน FSH จะกระตุ้นการพัฒนาของฟอลลิเคิลในรังไข่และช่วยผลิตไข่ ราววันที่ 11 ของรอบเดือน จะฉีดฮอร์โมนหนึ่งเข็มเข้าไปช่วยกระตุ้นให้ไข่สุกและตก ไข่ที่ถูกปล่อยออกมาก็พร้อมสำหรับปฎิสนธิ ด้วยการมีเพศสัมพันธ์หรือจะฉีดเชื้ออสุจิก็ได้

กระตุ้นรังไข่โดยการฉีดฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH)

  1. เราไม่สามารถเพิ่มขนาดฮอร์โมน เอฟเอสเอช เพื่อให้ได้ฟอลลิเคิลจำนวนที่มากกว่าที่มีตอนเริ่มต้นได้ ขนาดฮอร์โมนที่เหมาะสม พอเพียงกับผู้รับการกระตุ้นแต่ละรายจะยับยั้งการแข่งขันของฟอลลิเคิลเหล่านั้น เมื่อถึงจุดนั้นเราจะได้ฟอลลิเคิลที่เจริญเต็มที่ในจำนวนที่ดี
  2. การฉีดฮอร์โมน เอฟเอสเอช ไม่ได้เร่งให้มีการใช้ฟอลลิเคิลและไข่ เร็วขึ้นกว่าในรอบประจำเดือนปกติที่ไม่ได้รับฮอร์โมน ฟอลลิเคิลเหล่านี้เริ่มเจริญขึ้นก่อนหน้านี้แล้วหลายเดือน ซึ่งฟอลลิเคิลที่ไม่เจริญเต็มที่ก็จะฝ่อไปเองตามธรรมชาติ
  3. การให้ฮอร์โมน เอฟเอสเอช มากไปก็ไม่ดี เอฟเอสเอช ในระดับสูงเป็นอันตรายต่อไข่และอาจทำให้ผู้รับการกระตุ้นเกิดภาวะเสี่ยงต่อ การเกิดกลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปได้
  4. ระยะเวลาในการฉีดฮอร์โมน เอฟเอสเอช ก็มีความสำคัญ ระยะปกติของฟอลลิคูลา เฟส เราจะพบว่าฟอลลิเคิลจะมีขนาดโตขึ้น ใช้เวลาราว 11 วัน หรือมากกว่านั้น
  5. เราสามารถตรวจดูระดับเอสโตรเจนในผู้หญิงภายหลังรับ การกระตุ้นไปแล้ว 3 – 4 วัน หากเพิ่มขึ้นไม่มากแสดงว่าตอบสนองไม่ดี เราสามารถเพิ่มปริมาณ เอฟเอสเอช ได้อีก แต่หากตอบสนองมากเกินไป ต้องลดปริมาณ เอฟเอสเอชที่ใช้ลง

ใน วันที่ 7 – 8 ของการกระตุ้นรังไข่แพทย์จะตรวจติดตามการเติบโตของฟอลลิเคิลเป็นครั้งแรก ด้วยอัลตราซาวด์ และตรวจติดตามครั้งต่อไปแพทย์จะพิจารณาจากการตอบสนองต่อยาของคนไข้แต่ละราย ซึ่งอาจต้องเจาะเลือดดูระดับฮอร์โมนประกอบร่วมกับตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ทุก 2 วัน จนกว่าฟอลลิเคิลจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 – 20 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมที่จะให้ไข่ที่สมบูรณ์

กระตุ้นรังไข่ด้วยการทำ IVF หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย(เด็กหลอดแก้ว)

การเก็บไข่ที่สุกจากฝ่ายหญิงและการผสมกับอสุจิ - กุลพัฒน์การแพทย์ สหคลินิก

การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือเด็กหลอดแก้ว คือการช่วยการเจริญพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการเก็บไข่ที่สุกเต็มที่จากฝ่ายหญิง นำมาผสมกับอสุจิให้เกิดการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ จะเกิดเป็นตัวอ่อนขึ้น และย้ายตัวอ่อนที่ได้สู่โพรงมดลูกหลังจากการปฏิสนธิ 3-5 วัน เพื่อให้เกิดการฝังตัวและเกิดเป็นการตั้งครรภ์ต่อไป ในระหว่างขั้นตอนต่างๆนี้จะมีการเจาะตรวจเลือดเป็นระยะในฝ่ายหญิง และอาจต้องฉีดยาฮอร์โมนทุกวัน โดยทั่วไปเด็กหลอดแก้วมักเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากท่อนำไข่ตีบตัน หรือมีเยื่อพังผืดในอุ้งเชิงกรานซึ่งขัดขวางการเดินทางของไข่เข้าสู่โพรงมดลูก นอกจากนี้ยังใช้ได้ในรายที่มีภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ความผิดปกติของปากมดลูก ความผิดปกติของการตกไข่ สาเหตุจากฝ่ายชาย  หรือภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ

การกระตุ้นรังไข การป้องกันไข่ตกก่อนเวลาที่กำหนด

หยุดการสื่อสารระหว่างสมองและรังไข่ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียไข่ไปก่อนวันเจาะเก็บไข่

การ ป้องกันไข่ตกก่อนเวลาที่กำหนดทำได้โดยให้ GnRH – analogs กลุ่มของยาที่มีความใกล้เคียงกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ฮอร์โมน ในธรรมชาติ (Gonadotropin releasing hormone:GnRH) ที่สร้างจากต่อมใต้สมองเพื่อควบคุมการปล่อยฮอร์โมนเอฟเอสเอช และ แอล เอช จากต่อมพิทูอิตารี GnRH – analogs มี 2 กลุ่ม คือ agonist และ antagonist ช่วยป้องกัน LH-surge ด้วยกลไกที่ต่างกัน

GnRH agonists ระยะแรกจะกระตุ้นการหลั่งของ เอฟเอสเอช และ แอล เอช ต่อไปจะยับยั้งและควบคุมต่อมพิทูอิตารี agonists ที่ใช้ในประเทศไทยมี 2 ชนิด ในรูปแบบสเปรย์พ่นทางจมูก และรูปแบบฉีด แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคน

GnRH antagonists เป็นรูปแบบใหม่ของยาฉีด ที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง เอฟเอสเอช และ แอล เอช โดยไม่เกิดการกระตุ้นฮอร์โมนทั้งสองก่อน หมายถึงการใช้ยาที่สั้นลง ปกติเริ่มใช้ในวันที่ 6 ของการกระตุ้นด้วย เอฟเอสเอช antagonists ในประเทศไทย ได้แก่ Cetrotide® และ Orgalutran® ซึ่งมีราคาสูงกว่า agonist แต่ประสิทธิภาพในการป้องกัน LH-surge ไม่แตกต่าง ใช้ได้ผลดีกับผู้หญิงที่รังไข่สร้างฟอลลิเคิลน้อยในรอบการรักษาด้วย IVF หรือผู้หญิงที่มีอายุมาก หรือใช้กับผู้หญิงที่ต้องการใช้เวลาในการรักษา ที่สั้นลง แพทย์จะเลือกใช้ยาโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุ การตอบสนองต่อการรักษาในรอบที่ผ่านมา และ ความสะดวก

การกระตุ้นรังไข่ ด้วยการเหนี่ยวนำให้ไข่ตก

การฉีดฮอร์โมน hCG ในช่วงกลางรอบการรักษา เพื่อเลียนแบบ LH-surge

เราไม่สามารถใช้ แอล เอช ชนิดสังเคราะห์ เพื่อเลียนแบบ LH-surge ในธรรมชาติ เพราะระยะเวลาที่เกิด LH-surge สั้นมาก จึงใช้ฮอร์โมน hCG ช่วยแทนภาวะ LH-surge ตามธรรมชาติ เพื่อทำให้ไข่สุกเต็มที่ และเกิดการตกไข่ คือทำให้ไข่หลุดจากผนังของฟอลลิเคิลมาลอยอยู่ในน้ำของฟอลลิเคิล เราจึงจะเจาะเก็บไข่ได้ ไข่จะตกหลังจากฉีด hCG ไปแล้วประมาณ 38 ชั่วโมง ไข่ที่โตเต็มที่สามารถลอยตัวอยู่ในน้ำของฟอลลิเคิลได้หลังชั่วโมงที่ 34 เราจึงมีเวลานาน 4 ชั่วโมงเป็นช่วงเวลา (window) ที่เหมาะกับการเจาะเก็บไข่ ดังนั้นเราจึงมักนัดเวลาเก็บไข่หลังจากให้ hCG ไปแล้ว 36 ชั่วโมง

ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่ 3 ของการกระตุ้นรังไข่ด้วยเอฟเอสเอช ไปจนถึงวันที่เจาะเก็บไข่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยที่จะเกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์แฝดได้เมื่อย้ายกลับตัวอ่อนแล้ว