14ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด

31 December 2011
7488 view

น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด

ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดเป็นเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้และป้องกันไม่ได้เช่นกัน และไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายแบบนี้ขึ้น เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น

น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด คืออะไร

ภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด (amniotic fluid embolism) เป็นภาวะที่เกิดจากการที่มีน้ำคร่ำหรือเส้นผม หรือเศษชิ้นเนื้อต่างๆ ของทารกหลุดเข้าสู่กระแสเลือดของมารดาผ่านทางรกในขณะคลอดและทำให้เกิดอาการแพ้ ภาวะนี้ทำให้เกิดความล้มเหลวในระบบหัวใจและปอด ทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัว และเป็นอันตรายถึงชีวิตแก่มารดาได้

น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด ใครบ้างมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้

คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกรายมีโอกาสเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดได้ แต่ภาวะนี้พบได้น้อยมาก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่มักพบ ได้แก่

  1. มารดามีอายุมากเมื่อตั้งครรภ์
  2. ผ่านการตั้งครรภ์และการคลอดมาหลายครั้ง
  3. มีขี้เทาของทารกปนอยู่ในน้ำคร่ำ
  4. มีบาดแผลหรือ รอยถลอกบริเวณปากมดลูก
  5. ทารกเสียชีวิตในครรภ์
  6. มดลูกมีการบีบรัดตัวอย่างรุนแรงและมีการบับรัดตัวถี่มาก
  7. ปากมดลูกเปิดออกอย่างรวดเร็วและคลอดทารกออกมาอย่างรวดเร็ว
  8. มีปริมาณน้ำคร่ำมาก
  9. มดลูกแตก
  10. มารดามีประวัติการแพ้ (ในอเมริกาพบว่าผู้ที่มีภาวะ AFE เคยมีประวัติการแพ้สูงถึง 41%)
  11. เนื้อเยื่อของทารกในครรภ์อักเสบเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
  12. ทารกมีขนาดใหญ่
  13. พบในการตั้งครรภ์ทารกเพศชายมากกว่าการตั้งครรภ์ทารกเพศหญิง
  14. ผลจากฮอร์โมน Oxytocin (ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด)

น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด มีอาการอย่างไร

น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด ระยะเเรก  

เมื่อน้ำคร่ำและเซลล์ของทารกผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ทำให้หลอดเลือดแดงปอดมีการหดตัวทำให้ความดันในปอดสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อยและความดันลดลงอย่างทันทีทันใด หลังจากนั้นอาการจะมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ความดันในหัวใจห้องล่างขวาสูงขึ้น เซลล์เริ่มขาดออกซิเจน หัวใจล้มเหลว การหายใจล้มเหลว และไม่นานหลังจากนี้ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะโคม่า

น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด ระยะที่2

แม้ว่าผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถรอดชีวิตจากระยะแรก แต่ประมาณ 40% ของผู้รอดชีวิตจากระยะแรกจะมีการพัฒนาไปสู่ระยะที่สองซึ่งเป็นระยะเลือดออก ผู้ป่วยอาจมีอาการหนาวสั่น ไอ คลื่นไส้ รับรสขมในปาก มีเลือดออกและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในกระแสเลือดเนื่องจากระบบเลือดได้สูญเสีย ความสามารถในการแข็งตัวของเลือด นอกจากนี้ภาวะเซลล์ขาดออกซิเจนจะส่งผลให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนด้วย อัตราการเต้นของหัวใจของทารกจะลดลงน้อยกว่า 110 ครั้งต่อนาที จึงต้องรีบทำการคลอดโดยด่วน ภายหลังการคลอดมักพบว่ามดลูกจะมีการหดรัดตัวไม่ดีทำให้เสียเลือดมากและเสีย ชีวิตในที่สุด

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. ภาวะแท้งคุกคาม

2. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

3. 11สาเหตุที่ทำให้แม่ท้องคลอดก่อนกำหนด

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team