โรคคางทูม ไม่ร้ายแรง แต่ไม่ควรละเลย!!!

20 November 2019
10318 view

โรคคางทูม 

โรคคางทูม (mumps) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของต่อมน้ำลายบริเวณหน้าหู(parotid gland) จากเชื้อไวรัส (mump virus) จนเห็นเป็นอาการบวมนูนของคาง จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “คางทูม”  

โรคคางทูมติดต่อได้ทางไหน?

เชื้อคางทูม จะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยค่ะ การติดต่อเกิดจากหายใจเอาเชื้อเข้าไป หรือสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย เช่น ใช้ภาชนะในการกินน้ำและอาหารร่วมกับเด็กที่ป่วย จากนั้นเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและปาก แล้วแบ่งตัวในจมูก จากนั้นเข้าสู่กระแสเลือด และแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่ต่อมน้ำลายข้างหู มักพบในเด็กปฐมวัยขึ้นไปจนถึงวัยเรียน พบโรคนี้ในช่วงฤดูหนาว และในต้นฤดูร้อน

อาการของโรคคางทูมเป็นอย่างไร

เด็กที่ติดเชื้อนี้ จะเริ่มมีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร จากนั้น 2-3 วันต่อมาจะเริ่มเจ็บและบวมบริเวณหน้าหู อาจมีอาการข้างใดข้างหนึ่งก่อน ต่อมาจึงลามเป็นทั้ง 2 ข้าง อาการบวมจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะค่อยๆยุบหายไปได้เอง เด็กบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อัณฑะอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยในเด็ก เมื่อเทียบกับวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ดังนั้น หากมีประวัติเป็นคางทูม จากนั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ต่อมาเกิดอาการปวดบวมบริเวณถุงอัณฑะ, ปวดท้องหรือปวดศีรษะมาก ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ

เมื่อเกิดเป็นคางทูมแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ตลอดชีวิต โดยไม่กลับมาติดเชื้อได้อีก แต่ในบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อย ที่จะพบว่ากลับมาติดเชื้อซ้ำได้ แต่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดผลข้างเคียงมากนัก

วิธีการดูแลรักษาโรคคางทูมในเด็ก

โรคคางทูมในเด็กนั้นไม่มียาฆ่าเชื้อค่ะ รักษาโดยประคับประคองตามอาการ

  • อาการปวด ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ไม่ควรทานแอสไพริน เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแอสไพรินได้ค่ะ
  • หากคางลูกบวมมาก แนะนำให้คุณแม่ใช้น้ำอุ่นจัดๆ หรือกระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูมวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการปวดมาก แนะนำให้คุณแม่ใช้ความเย็นประคบเพื่อบรรเทาอาการปวดแทนค่ะ
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ 
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ สำคัญควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะอาจจะทำให้ลูกน้อยเกิดอาการปวดมากขึ้นได้ค่ะ
  • เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง พร้อมกับดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ถ้าเกิน 1 สัปดาห์ คางยังไม่หายบวม ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการคางบวมอาจมีสาเหตุอื่นๆได้อีก ควรไปตรวจประเมินช่องปากและลำคอซ้ำอีกครั้งหากเกิน 7 วันแล้ว แต่อาการยังบวมไม่ยุบ หรือมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป

การป้องกันโรคคางทูมในเด็ก

  • การป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการฉีดวัคซีน ซึ่งเด็กจะได้รับวัคซีนตามโปรแกรมของประเทศไทยอยู่แล้วค่ะ ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะคงอยู่ไปได้ตลอดชีวิตค่ะ
  • กรณีมีเด็กป่วย ต้องแยกเด็กป่วยประมาณ 9 – 10 วันหลังเริ่มมีต่อมน้ำลายโต เพราะเป็นระยะแพร่เชื้อสำคัญค่ะ ควรหยุดโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ไม่รวมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จานชาม ของเล่น และอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสมือกับเด็กป่วยที่เป็นโรคคางทูมด้วยนะคะ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคางทูม

  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่อาการจะไม่รุนแรงมากนักค่ะ ซึ่งพบเพียงแค่ 10% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะผลข้างเคียงนี้
  • โรคสมองอักเสบ พบได้น้อยมากเพียง 1% เท่านั้น แต่หากเกิดขึ้นกับเด็กเล็กอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และพบผลข้างเคียงนี้กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ถึงแม้ว่าโรคคางทูมส่วนมากจะหายได้เอง แต่ก็อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ค่ะ (เป็นเพียงส่วนน้อย) ซึ่งอาจจะแสดงอาการก่อน หรือหลังจากการบวมแล้ว อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยเป็นโรคคางทูมก็ไม่ควรปล่อยเอาไว้นะคะ คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการดูแลรักษาที่เหมาะสมค่ะ

บทความโดย: พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ ช่อง youtube : Mamaexpert official