เพมฟิกอยด์ในเด็กหรือโรคตุ่มน้ำพอง เป็นแล้วรักษาหายหรือไม่?

06 November 2019
1666 view

 เพมฟิกอยด์ในเด็ก

ช่วงก่อนหน้านี้ หลายคนเคยเห็นข่าวของนักแสดงชาย คุณวินัย ไกรบุตร ป่วยด้วยโรคประหลาด มีตุ่มน้ำพองทั่วร่างกาย จริงๆแล้วไม่ใช่โรคใหม่ หรือไม่ใช่โรคประหลาดอะไรค่ะ เป็นโรคตุ่มน้ำที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เกิดได้น้อย ทำให้หลายคนยังไม่รู้จักโรคนี้

เพมฟิกอยด์ในเด็กคือโรคอะไร...มาทำความรู้จักกัน!!!

เพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) เป็นโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองที่ผิวหนัง ในเด็กพบไม่บ่อยค่ะ และส่วนมากเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี

สาเหตุเกิดจาก ความผิดปกติในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เรียกง่ายๆ ว่าภูมิคุ้มกัน error ค่ะ ทำให้เกิดการทำลายโปรตีนที่ยึดผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ไว้ด้วยกัน ผิวหนังจึงแยกตัวจากกันโดยง่าย เกิดเป็นตุ่มพองตามร่างกาย

เพมฟิกอยด์ในเด็กมีลักษณะอย่างไร?

ลักษณะของโรคเพมฟิกอยด์ จะเป็นตุ่มน้ำพอง ที่ผิวหนัง อาจพบได้ที่บริเวณมือและเท้า และเยื่อบุต่างๆ ได้ เช่น ปาก หลอดอาหาร ช่องคลอด ทวารหนัก 

เพมฟิกอยด์ในเด็ก โรคที่พบได้น้อยในเด็กแต่รักษาได้

ยาหลักที่ใช้รักษาเพมฟิกอยด์ในเด็ก คือ การทายาเสตียรอยด์ในเด็กที่มีตุ่มน้ำเฉพาะที่ แต่หากมีตุ่มน้ำปริมาณมาก ต้องมียาเสตียรอยด์รับประทาน หรือร่วมกับยากดภูมิต้านทาน เนื่องจากโรคนี้เกิดจากภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ โดยข่าวดีของผู้ป่วยเพมฟิกอยด์ในเด็ก คือ ตอบสนองดีต่อการรักษามากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่หายภายใน 1 ปี  ค่ะ

เพมฟิกอยด์ในเด็ก เป็นแล้วให้ปฏิบัติตามนี้!!!

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคเพมฟิกอยด์ในเด็ก

สำหรับตุ่มน้ำตามร่างกาย 

  • ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด 
  • ไม่ควรเปิดแผลบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดถลอก
  • ไม่แกะเกา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง  
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
  • หลีกเลี่ยง การประคบหรือพอกแผลด้วยสมุนไพร หรือยาใด ที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่ง

สำหรับตุ่มน้ำแตกเป็นแผลในปาก

  • ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) อมกลั้ว บ้วนปากบ่อย ๆ หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร 
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือยาฆ่าเชื้อในช่องปากที่เข้มข้น
  • แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟัน หลีกเลี่ยงการแปรงฟันแรงๆ เนื่องจากจะทำให้แผลถลอกมากขึ้น
  • งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ดหรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น
  • งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก

สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ทานยากดภูมิต้านทาน ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ถ้ามีอาการที่บ่งถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ไอ ปัสสาวะแสบขัด ถ่ายเหลว ควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือไม่สะอาด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพรดนิโซโลน ถ้ามีอาการปวดท้อง อุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ดื่มนมสด หรือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนจากยา

ทั้งนี้สิ่งสำคัญ ควรพาผู้ป่วยมารักษาอย่างต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง ดูแลแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้นได้ค่ะ

บทความโดย: พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ (กุมารแพทย์)

ติดตามเรื่องเด็กๆ by หมอแอม ตอบทุกปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
ในรูปแบบ VDO "ทุกวันพฤหัสบดี" ได้ที่ ช่อง youtube : Mamaexpert official