23 อาการปกติในเด็กแรกเกิดที่คุณแม่มักกังวล

04 October 2017
178603 view

อาการปกติในเด็กแรกเกิด

หมายถึงทารกอายุ 4 สัปดาห์หลังคลอด เป็นวัยที่มีภาวะหรือสิ่งปรกติที่ไม่พบในเด็กวัยอื่น ซึ่งภาวะปกตินี้อาจทำให้พ่อแม่วิตกกังวลได้ บ่อยครั้งที่พ่อแม่พาทารกไปพบบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นภาวะปกติ และได้รับคำแนะนำหรือการรักษาที่ไม่จำเป็น หรือการหายามารักษาเอง อาจเป็นอันตรายแก่ทารกได้

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

จริงๆแล้วภาวะปรกติเหล่านี้ ไม่ต้องทำการรักษาใดๆ ภาวะปรกติเหล่านี้ ได้แก่

1. การสะดุ้งหรือผวาเป็นอาการปกติในเด็กแรกเกิด 

เวลามีเสียงดังหรือเวลาสัมผัสทารกเป็นสิ่งที่ทารกทุกคนต้องมีเพราะแสดงถึงระบบประสาทที่ปรกติและเป็นการทดสอบอย่างหยาบๆ ว่าทารกได้ยินเสียง ทารกตอบสนองโดยการยกแขนและขา แบมือ และกางแขนออกแล้วโอบแขนเข้าหากัน การตอบสนองแบบนี้พบเมื่อทารกหลับสนิท การผวาพบได้จนถึงอายุ 6 เดือน

2. การกระตุกเป็นอาการปกติในเด็กแรกเกิด

หากทารกหลับในระดับที่ลูกตามีการกรอก ทารกมีการกระตุกเล็กน้อยที่แขนหรือที่ขา เวลาตื่นไม่มีการกระตุก ผู้ใหญ่บางครั้งก็มีการกระตุกก่อนรู้สึกตัวตื่นเช่นเดียวกัน พ่อแม่มักพาทารกมาปรึกษาโดยบอกว่าลูกชัก หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ทารกมักถูกรับไว้ในโรงพยาบาล

3. การบิดตัว อาการปกติในเด็กแรกเกิด

ทารกครบกำหนดมีการเคลื่อนไหวเวลาตื่นนอนคล้ายผู้ใหญ่บิดขี้เกียจ ทารกยกแขนเหนือศีรษะ งอข้อ ตะโพกและข้อเข่าและบิดลำตัว ลักษณะเคลื่อนไหวแบบนี้ พบในทารกที่ปรกติและอาจพบมากในทารกบางคน บางคนอาจบิดตัวจนหน้าแดง

4. การสะอึก อาการปกติในเด็กแรกเกิด

คือเสียงที่เกิดขึ้นขณะหายใจเข้า แล้วมีการหดตัวของกะบังลมและกล้ามเนื้อซี่โครงร่วมกับการปิดที่กล่องเสียง ทำให้เกิดเสียงดังขึ้น ในเด็กเล็กๆ จะมีการสะอึกได้บ่อย ขณะที่ทานอิ่ม กระเพาะอาหารที่พองเต็มที่จะกระตุ้นให้กะบังลมที่คลุมอยู่บนกระเพาะพอดี หดตัวได้ การสะอึกอาจพบภายหลังดูดนม เนื่องจากการทำงานของกะบังลมยังไม่ปรกติ หรือส่วนยอดของกระเพาะอาหารที่ขยายตัวจากน้ำนมและลมที่กลืนลงกระเพาะสัมผัสกะบังลม ทั้งหมดนี้จะเป็นระยะสั้นๆ หายได้เอง ไม่มีอันตราย หากทำการไล่ลมโดยจับทารกนั่งหรืออุ้มพาดบ่าสัก 5-10 นาที อาการเหล่านี้ก็จะหายไปเอง

5. การแหวะนม อาการปกติในเด็กแรกเกิด

อาจเกิดขึ้นจากหูรูดกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดยังไม่ทำงานได้ไม่ดี ทำให้หูรูดปิดไม่สนิท มีผลให้ทารกแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ หลังมื้อนมเนื่องจากทานมากเกินไป หรือจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารส่วนที่ต่อกับกระเพาะอาหาร น้ำนมที่ออกมาอาจมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ เนื่องจากถูกกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นขั้นตอนของการย่อย พ่อแม่มักเข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่ย่อยและนมที่ให้ลูกไม่ดี การแก้ไขการแหวะนมคือ การไล่ลม ร่วมกับการจัดให้ทารกนอนศีรษะสูงและตะแคงขวาหลังการดูดนมประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านอนดังกล่าวหูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูง ทำให้น้ำนมไหลย้อนแรงดึงดูดของโลกไม่ได้ หรือภายหลังที่ลูกดูดนมหมดแล้ว ให้จับทารกนั่งหรืออุ้มพาดบ่าเพื่อไล่ลม

6. ทารกไม่ดูดน้ำ อาการปกติในเด็กแรกเกิด

น้ำนมมารดามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 88% นมผงก่อนที่จะป้อนทารกก็ต้องผสมน้ำในอัตราส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้มีส่วนประกอบใกล้เคียงกับนมมารดา ทารกจึงได้น้ำอย่างเพียงพอจากน้ำนม การดูดน้ำหรือการป้อนน้ำเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ว่าทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในระยะ 4-6 เดือน หากพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้ จะวิตกกังวลที่ทารกไม่ดูดน้ำเวลาให้น้ำเปล่า และมักแก้ไขโดยการผสมกลูโคสหรือน้ำผึ้งเพื่อให้ทารกดูดน้ำ ซึ่งอันตรายของการผสมกลูโคสหรือน้ำผึ้งคือ อาจทำให้ทารกดูดนมน้อยลงเป็นเหตุให้น้ำหนักตัวขึ้นช้ากว่าปรกติ และเกิดท้องร่วงได้เพราะน้ำที่เจือกลูโคสหรือน้ำผึ้งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน นอกจากนี้การให้ทารกดูดน้ำเพิ่มไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทารกเหลือง แต่กลับทำให้ทารกเหลือมากขึ้นจากการได้น้ำนมไม่พอ

7. การถ่ายอุจจาระบ่อย อาการปกติในเด็กแรกเกิด

ทารกแรกเกิดที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวอาจถ่ายอุจจาระกะปริดกะปรอย ขณะดูดนมแม่ บิดตัวหรือผายลมจะมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วย ทำให้เข้าใจผิดว่าทารกท้องเดิน เพราะอาจนับการถ่ายได้ถึง 10-20 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีสีเหลืองเข้มคล้ายสีทองคำใหม่ๆ และมีกลิ่นเปรี้ยว สาเหตุเกิดจากนมแม่มีนมน้ำเหลือง(COLOSTRUM)เจือปนซึ่งช่วยระบายท้อง นมน้ำเหลืองจะหมดไปเหลือแต่น้ำนมแม่แท้เมื่อเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 4 หลังคลอดทารกจำนวนหนึ่งที่ถ่ายบ่อยๆ จะได้รับการรักษาโดยการเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผง บางรายได้รับการรับตัวไว้ในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือดและงดนมแม่ ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องนัก

8. การไม่ถ่ายทุกวัน อาการปกติในเด็กแรกเกิด

ภายหลังคลอด 4 สัปดาห์น้ำนมแม่จะเป็นน้ำนมแท้ที่ไม่มีน้ำนมเหลืองเจือปน หากทารกยังคงทานนมแม่ต่อไป ทารกอาจไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน อาจถ่ายวันเว้นวัน ซึ่งบางรายอาจถ่ายทุก 12 วันโดยไม่มีอาการท้องอืดและอึดอัด ไม่อาเจียน อุจจาระออกมาเป็นก้อนเหนียวคล้ายยาสีฟันที่บีบออกจากหลอด ทารกที่ได้รับนมแม่ไม่ถ่ายทุกวันเกิดจากน้ำนมแม่ย่อยง่าย ส่วนประกอบของน้ำนมแม่จึงถูกดูดซึมโดยลำไส้เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้เหลือกากที่กลายเป็นอุจจาระน้อย ท้องผูกทางการแพทย์ตัดสินจากความแข็งของอุจจาระไม่ได้ดูที่ความถี่ของการถ่าย ท้องผูก หมายถึงการถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็งทั้งกอง ท้องผูกพบได้บ่อยในทารกที่เลี้ยงนมผสม และชงนมไม่ถูกสัดส่วน อาจจางไปหรือข้นไป หรือใช้นมที่ไม่เหมาะกับวัย เช่นให้นมผงสำหรับเด็กโตแก่เด็กทารก เป็นต้น

9. ลูกร้องเวลาถ่ายปัสสาวะ อาการปกติในเด็กแรกเกิด

เมื่ออายุใกล้ 1 เดือน ทารกบางรายเริ่มรับรู้ความรู้สึกปวดปัสสาวะได้ ทำให้ทารกเหมือนมีการเจ็บปวดก่อนถ่ายปัสสาวะ ภาวะนี้เป็นเฉพาะเวลาที่ทารกถ่ายปัสสาวะขณะตื่น หากถ่ายปัสสาวะขณะนอนหลับทารกจะไม่ร้อง ทารกจะไม่มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นหยดๆ หรือเบ่ง อาการนี้จะหายไปเองภายใน 1 เดือน

10. ตัวเหลือง อาการปกติในเด็กแรกเกิด

ทารกที่ได้รับนมแม่มีโอกาสเกิดตัวเหลืองได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกเรียกว่า breastfeeding jaundice พบใน 2-4 วันหลังคลอด เกิดจากการได้รับนมแม่ไม่เพียงพอเพราะจำกัดจำนวนครั้งของการดูดนมร่วมกับการให้ดูดน้ำเปล่า หรือน้ำกลูโคส การป้องกันภาวะนี้คือ ให้ทารกอยู่กับมารดาตลอดเวลา(Rooming-in หรือ Bed-in) หรือให้ดูดนมแม่บ่อย (คือมากกว่า 8 มื้อ/วัน) ควรงดน้ำเปล่าหรือน้ำกลูโคส ลักษณะที่สองเรียกว่า breastmilk jaundice ซึ่งเริ่มปรากฏปลายสัปดาห์แรก(4-7 วัน) และเข้าสู่เกณฑ์ปรกติเมื่ออายุ 3-12 สัปดาห์ กลไกการเกิด breastmilk jaundice ยังไม่ทราบแน่นอน การแยกภาวะนี้จากภาวะเหลืองที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญคือโรคฮัยโปไธรอยด์แต่กำเนิด ทารกจะนอนเก่ง ร้องน้อย ต้องปลุกเพื่อให้นม ดูดนมได้ไม่ดีและช้า มีผลให้น้ำหนักเพิ่มน้อย และลิ้นโต ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดัง อาจมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย ท้องผูก ท้องโตกว่าปรกติ มีไส้เลื่อนที่สะดือ ผิวหนังเย็นและลายคล้ายร่างแห วัดอุณหภูมิได้ต่ำกว่าปรกติ (มักต่ำกว่า 35C) อาจมีอาการบวมที่อวัยวะเพศและแขนขา ภาวะฮัยโปไธรอยด์ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้ทารกปัญญาอ่อน หากเป็น breastmilk jaundice ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ

11. ผิวหนังลอกอาการปกติในเด็กแรกเกิด

ผิวหังลอก Desquamation หรือ Peeling of the skin ขบวนการสร้าง Keratin ของผิวหนังแสดงถึงภาวะการเจริญเต็มที่(Maturity)ของผิวหนัง โดยทารกในครรภ์ต้องมีภาวะโภชนาการปรกติ เมื่อขบวนการสร้างเจริญเต็มที่แล้ว และทารกในครรภ์มีภาวะโภชนาการปรกติจากรกที่ทำหน้าที่ได้อย่างปรกติ ผิวหนังจะมีการลอก ซึ่งปรกติผิวหนังของทารกครบกำหนดใน 1-2 วันแรกจะยังไม่ลอก ภายหลังอายุ 24-28 ชั่วโมงจึงเริ่มปรากฏ มักพบที่มือและเท้า ผิวหนังที่ลอกจะหายไปในเวลา 2-3 วันโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดผิวหนังจะลอกช้ากว่า โดยจะปรากฏเมื่อ 2-3 สัปดาห์หลังคลอดและอาจลอกมากในทารกอายุครรภ์น้อยมากๆ การมีผิวหนังลอกเมื่อคลอดออกมาทันทีพบในทารกครรภ์เกินกำหนดที่มี dysmaturity เนื่องจากสมรรถภาพการทำงานของรกเสื่อมลง และทารกที่ขาดออกซิเจนชนิด acute ขณะอยู่ในมดลูก

12. ปานแดงชนิดเรียบอาการปกติในเด็กแรกเกิด

ปานแดงที่เปลือกตาบน หน้าผาก และท้ายทอยพบได้ประมาณร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิด ปานแดงชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน และจะแดงขึ้นเวลาทารกร้อง ปานแดงที่เปลือกตามักหายไปเมื่อทารกมีอายุหนึ่งปี ปานแดงที่หน้าผากมักพบร่วมกับปานแดงที่ท้ายทอย และมีชื่อเรียกเฉพาะว่า stork mark ปานแดงที่หน้าผากจะมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมโดยมีฐานอยู่ที่ชายผมและมุมชี้ไปทางจมูก stork markนี้จะปรากฏนานกว่าหนึ่งปี และอาจคงอยู่ให้เห็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่เป็นครั้งคราวเวลาโกรธ

13. ภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้าอาการปกติในเด็กแรกเกิด

เกิดจากการมีเลือดคั่งและมีจุดห้อเลือดจำนวนมาก เกิดจากการถูกบีบรัดโดยการคลอดธรรมชาติ หรือจากสายสะดือพันคอ จุดห้อเลือดมักหายอย่างรวดเร็วใน 2-3 วัน

14. ผิวหนังลายเหมือนร่างแหอาการปกติในเด็กแรกเกิด

หรือเหมือนลายหินอ่อนเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยและเลือดดำย่อย สาเหตุของภาวะนี้เกิดจากความไม่สมบูรณ์ในการทำงานของศูนย์ควบคุมหลอดเลือด นอกจากพบในทารกเกิดที่ปรกติแล้ว ยังพบในทารกที่อยู่ในที่ๆมีอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมเย็นหรือร้อนไป และทารกที่มีการกำซาบของผิวหนังลดลงจากหัวใจทำงานผิดปรกติ หรือช็อกจากหัวใจหรือการติดเชื้อ

15. ภาวะเขียวที่มือและเท้าอาการปกติในเด็กแรกเกิด

ภาวะเขียวที่มือและที่เท้าพบได้บ่อยในทารก 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เกิดจากการไหลเวียนเลือดที่มือและเท้าช้าลงเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวจะสะกัดออกซิเจนจาก Oxygenated hemoglobin เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นผลให้มี reduced hemoglobin เพิ่มขึ้น ภาวะนี้อาจพบในทารกที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เย็น ฉะนั้นหากเห็นภาวะนี้ให้ระลึกเสมอว่า ทารกอาจอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เย็นไปและ/หรืออาจมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ

15. เลือดออกที่ตาขาวอาการปกติในเด็กแรกเกิด

หรือเลือดออกรอบๆแก้วตา เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์

16. MILIA หรือ EPIDERMAL INCLUSIONCYST อาการปกติในเด็กแรกเกิด

ภาวะนี้มีลักษณะเป็นตุ่มนูนจากพื้นผิว มีสีนวลหรือสีขาวขนาด 1 มม. พบที่แก้ม ดั้งจมูก หน้าผาก เพดานแข็ง เหงือก หัวนมและปลายอวัยวะเพศของทารกเพศชาย ภาวะนี้พบร้อยละ 40 ของทารกครบกำหนด มักแตกและหายไปเมื่ออายุ2-3 สัปดาห์หรืออยู่ได้นานถึง 2 เดือน

17. ตุ่มขาวในปากอาการปกติในเด็กแรกเกิด

 ที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิดอาจมีเม็ดสีขาวขนาดเท่าหัวหมุด เรียกว่า Epithelial pearl หรือ Epstein pearl ซึ่งเป็นภาวะปรกติของทารกแรกเกิด อาจมีจำนวนมากน้อยต่างกัน ตุ่มเล็กๆนี้ไม่ทำให้ทารกไม่ดูดนมและจะหลุดไปเอง อาจพบตุ่มขาวลักษณะนี้ที่เหงือกซึ่งเรียกชื่อต่างกันว่า Bohn nodule ที่หัวนมและปลายอวัยวะเพศชาย ซึ่งเรียกว่าEpidermal inclusion cyst คนสูงอายุเรียกสิ่งใดที่มีสีขาวในปากของทารกว่า หละ และเชื่อว่าทำให้ทารกไม่ดูดนมและรักษา หากเป็น Epithelial pearl จะให้รักษาโดยการขยี้หรือบ่งออกโดยใช้นิ้วหรือเข็มที่ไม่สะอาดซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ หากเป็นเชื้อรามักเชื่อว่าต้องใช้ผ้าอ้อมที่เปียกปัสสาวะของทารกเช็ด

18. ลิ้นขาวอาการปกติในเด็กแรกเกิด

ลิ้นขาวพบได้ในทารกแรกเกิด โดยปรากฏสีขาวกระจายเท่าๆกันบริเวณกลางลิ้น ซึ่งจะหายเองเมื่อทารกมีอายุมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ ผู้สูงอายุมักแนะนำให้ทา 1% gentian violet การวินิจฉัยแยกโรคจากเชื้อรา พบว่ามีแผ่นสีขาว เป็นหย่อมๆ ที่ลิ้นและพบร่วมกับที่เพดานปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ริมฝีปากด้วย

19. Sebaceous gland hyperplasia อาการปกติในเด็กแรกเกิด 

เป็นจุดขนาดเล็กกว่า 0.5 มม. มีสีนวลหรือขาว พบที่จมูก ริมฝีปาก และบริเวณแก้ม การคลำบริเวณผิวหนังที่เป็นจะพบว่าเรียบ ภาวะนี้พบในทารกครบกำหนดเป็นส่วนใหญ่ เกิดจากการงอกเกินของต่อมไขมัน จะมีขนาดเล็กลงและหายไปภายหลังคลอด 1-2 สัปดาห์

20. ริมฝีปากแห้งและลอกเป็นแผ่นอาการปกติในเด็กแรกเกิด

ขอบริมฝีปากของทารกอาจมีเม็ดพองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 มม. อาจพบตลอดขอบริมฝีปากบนและล่างหรือพบเฉพาะที่กลางริมฝีปากบน เม็ดนี้จะแห้งและลอกหลุดเป็นแผ่น แล้วขึ้นมาใหม่ เม็ดพองนี้มีชื่อว่า sucking blister

21. Mongolian spot อาการปกติในเด็กแรกเกิด 

เป็นสีของผิวหนังที่มีสีเขียวเทา หรือสีน้ำเงินดำ มีขอบเขตไม่ชัดเจน เกิดจากการมีเซลล์เมลานินแทรกซึมอยู่ในชั้นผิวหนังมาก พบที่บริเวณก้นกบ ก้น และหลังเอว อาจพบได้ที่ส่วนบน หัวไหล่ แขนและขา ภาวะนี้พบร้อยละ 90 ของทารกแรกเกิดโดยพบตั้งแต่ทารกคลอดออกมา และมักหายไปก่อนพ้นวัยทารก

22. นมเป็นเต้าอาการปกติในเด็กแรกเกิด

นมมีลักษณะเป็นเต้า พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย บางครั้งอาจมีน้ำนมซึ่งเรียกว่า witch’s milk ภาวะนี้จะปรากฏอยู่หลายสัปดาห์ ในทารกเพศหญิงอาจปรากฏจนถึงขวบปีแรก ภาวะนี้เป็นลักษณะเฉพาะของทารกครบกำหนด อาจเป็นผลของฮอร์โมนที่ผ่านรกมาสู่ทารก กลไกของการเกิดยังไม่ทราบ คนสูงอายุมีความเชื่อว่าต้องบีบให้นมแห้ง และเต้านมยุบ จึงต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบีบเค้น เพราะอาจทำให้เต้านมอักเสบเป็นฝีได้

23. ถุงอัณฑะยานอาการปกติในเด็กแรกเกิด

ถุงอัณฑะอาจยานจนเกือบสัมผัสที่นอน คนสูงอายุเชื่อว่าเป็นสิ่งผิดปรกติ และให้การรักษาโดยการประคบถุงอัณฑะด้วยใบพลูลนไฟ ถุงอัณฑะยานมากหรือน้อยใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการประเมินอายุครรภ์ของทารก ถุงอัณฑะยานพบในทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนดหรือเกินกว่ากำหนด เรียกลักษณะถุงอัณฑะเช่นนี้ว่า pendulous scrotum

อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการปกติในเด็กแรกเกิดที่คุณแม่มักกังวลและพยายามหาคำตอบพร้อมแนวทางแก้ไข เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว คุณแม่คงเข้าใจอาการของเด็กแรกเกิดมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าพบความผิดปกติ ที่เป็นปัญหาสร้างความไม่สบายใจให้คุณแม่ คุณแม่สามารถพาลูกเข้าพบแพทย์ได้เพื่อขอรับคำปรึกษาและข้อเท็จจริงโดยตรงจากแพทย์หรือกุมารแพทย์ได้ค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ไขปัญหา เรื่องไขที่ศีรษะเด็กอ่อน

2. ดื่มน้ำมะพร้าวช่วยลดไขจริงหรือ

3. ทารกแรกเกิดผิวลาย ผิดปกติหรือไม่แก้อย่างไร?

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team