วัคซีนป้องกันวัณโรค (ปลูกฝี) และ การดูแลหลังฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคที่แม่ต้องรู้

03 October 2017
69165 view

 วัคซีนป้องกันวัณโรค

วัณโรคแม้จะเป็นโรคที่อันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้ โดยวิธีการป้องกันวัณโรคในขั้นพื้นฐานก็คือ การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อีกทั้งยังไม่ควรอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ หรือหากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วย ก็ควรป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ วัณโรคยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG)

วัคซีนป้องกันวัณโรคคืออะไร

วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่รู้จักกันในนามของ “เชื้อทีบีเมื่อรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อส่วนใหญ่จะถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีเพียงส่วนน้อยที่จะหลบซ่อนอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ และอยู่ในภาวะสงบโดยไม่ก่อให้เกิดโรค หากแต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอลง เชื้อที่ซ่อนตัวอยู่จะทำให้เกิดโรค วัคซีนป้องกันวัณโรค (Bacillus Calmette-Guérin: BCG) ภายในวัคซีนป้องกันวัณโรคจะประกอบไปด้วยเชื้อวัณโรคที่ถูกทำให้เชื้ออ่อนแรงลงในปริมาณเพียงเล็กน้อย กลไกการทำงานของวัคซีนคือ เชื้อที่ฤทธิ์อ่อนลงจะเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถรับมือกับเชื้อวัณโรคได้

ใครบ้างต้องฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค

วัคซีนบีซีจีจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน โดยเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากฉีดไปแล้วภายในสัปดาห์ที่ 2 หลังฉีดจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ มีหนอง ซึ่งจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะหายไปเหลือแต่รอยแผลเป็นขนาดเล็กและสามารถอยู่ได้นาน 10 ปี สามารถป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80% และยังลดความเสี่ยงโรควัณโรคที่เยื่อหุ้มสมองในเด็กได้ แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดในผู้ใหญ่ ผู้ที่เคยฉีดบีซีจีมาแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดได้

วัคซีนป้องกันวัณโรคฉีดอย่างไร

วัคซีนจะถูกให้ด้วยการฉีดที่บริเวณต้นแขนซ้าย และหลังจากฉีดวัคซีนบีซีจีแล้ว จะต้องเว้นระยะการฉีดวัคซีนที่แขนข้างที่ฉีดอย่างน้อย 3 เดือน และหลังจากได้รับวัคซีนแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว และประมาณสัปดาห์ที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ ที่มีหนอง อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ และหายเป็นปกติ โดยในช่วงนี้การป้องกันของวัคซีนอาจยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าอาการต่าง ๆ จะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนในสตรีที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรก็สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ช้าโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วงแรก

ภาพตัวอย่างหลังจากฉีดวัคซีน 4-21 วัน

วัคซีนป้องกันวัณโรค มีผลข้างเคียงอย่างไร

  • เด็กบางคนอาจเกิดผดสีแดงเล็กๆ หรือเกิดแผลตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีนหลังจากฉีดวัคซีนได้ 2 ถึง 4 สัปดาห์ อาการนี้จะค่อยๆ บรรเทาลงและหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นขนาดเล็กหรือไม่มีรอยแผลเป็นเลย บางครั้งเด็กบางคนอาจเกิดก้อนบวมๆ ที่ใต้รักแร้เนื่องจากต่อมเกิดการขยายตัว ส่วนผลข้างเคียงอื่นยังพบได้น้อยมาก
  • ผู้ปกครองอย่าได้กังวลหากมีหนองหรือมีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นผลข้างเคียงที่ปกติ เด็กสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ดูแลจุดที่ฉีดวัคซีนให้สะอาดและแห้ง ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วในการทำความสะอาดแผลบริเวณนั้นหากจำเป็น หลังจากนั้นเช็ดให้แห้งด้วยผ้ากอซ
  • ห้ามทายาหรือครีมใดๆ และห้ามกดหรือใช้ผ้าพันแผลปิดลงบนแผล สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม
  • อาการแทรกซ้อนของวัคซีนบีซีจีที่พบทั่วไปส่วนใหญ่จะหายได้เอง ดังนั้นผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องกังวล

ใครบ้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันวัณโรคได้

ผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีน BCG มาก่อน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการของโรคแล้ว เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น จึงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อชนิดแพร่กระจายได้ นอกจากนี้ ยังห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน และไม่ควรให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ วัคซีนนี้ไม่นิยมให้ในคนที่อายุมากกว่า 16 ปีเนื่องจากไม่ค่อยได้ผล

ราคาวัคซีนวัคซีนป้องกันวัณโรค

  • ในโรงพยาบาลเอกชนวัคซีนวัณโรคตัว BCG จะต้องฉีดตั้งแต่เด็กแรกเกิด ราคาเข็มละ 324 บาท ระยะเวลาในการให้ภูมิ 20 ปี
  • ส่วนในโรงพยาบาลของรัฐบาลหรืออนามัยฉีดตั้งแต่เด็กแรกเกิดไม่เสียค่าใช้จ่าย

หากใครที่มีอาการน่าสงสัย อย่าชะล่าใจที่จะนำพาตัวคุณเองไปตรวจเช็คกับแพทย์เพราะรักษาเร็วก็จะยิ่งง่าย และหายขาดเร็ว สำหรับคนทั่วไป การรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีอยู่เสมอ เพื่อภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง เป็นความจำเป็นอย่างมากสำหรับชีวิต สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ที่เพิ่งมีทารกน้อย อย่าลืมนำลูกรักของคุณไปฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคสำหรับทารกหลังคลอด ส่วนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ นั้นก็ป้องกันได้เช่นกันด้วยการฉีดป้องกันได้ตามโรงพยาบาลทุกแห่ง

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วัคซีนในเด็กมีอะไรบ้าง

2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

3. วัคซีนเสริม

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. วัคซีนบีซีจี. เข้าถึงได้จาก http://www.clinicdek.com/?p=480. [ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560].
  2. การป้องกัน วัณโรค. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/QMoAp4. [ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560].
  3. วัคซีนป้องกันโรค : ควรฉีดอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร?. รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์. เข้าถึงได้จาก http://www.truelife.com/old/detail/816691. [ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560].
  4. วัคซีนบีซีจี. สภากาชาดไทย. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/3L87pz. [ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560].
  5. BCG vaccine. เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org/wiki/BCG_vaccine. [ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560].
  6. เข้าถึงได้จาก. https://www.praram9.com/talktodoctor_detail.php?id=16760. [ค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560].