หมอเตือนพ่อแม่ ระวัง10 ยาอันตรายต่อเด็ก ไม่จำเป็นอย่าใช้!!

27 March 2017
40387 view

ยาอันตรายต่อเด็ก

เด็กๆยุคปัจจุบัน ภูมิต้านทานต่ำมากเพราะไม่ได้ดื่มนมแม่อย่างเต็มที่ และการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนไปลูกอุดอู้อยู่กับโซเซียล พ่อแม่ไม่ค่อยได้พาไปออกกำลังกาย หรือดื่มด่ำธรรมชาติซักเท่าไหร่  ถ้าก้าวขาออกนอกบ้านก็ไปห้าง เล่นบ้านบอลในห้าง วนเวียนเป็นวัฏจักร เด็กๆจึงเจ็บป่วยบ่อย และพ่อแม่ก็มักจัดหายากินเอง เพราะพอมีความรู้ที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต เอะอะยา เอะอะยา ระดมยาทุกชนิดที่คิดว่าดีให้ลูกกิน หรือจัดยาวิตามินต่างๆมาเสริม แทนที่จะทำอาหารมากคุณค่าครบ 5 หมู่ให้รับประทาน 


นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า เด็กยุคใหม่ถูกจับให้กินยาประจำหลายขนานราวกับผู้ใหญ่ ถ้ามีการเก็บสถิติคงติดอันดับต้น ๆ ในเรื่องการกินยากันเลยทีเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วการให้ยาในปริมาณยิ่งมากยิ่งไปกดภูมิคุ้มกันเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้ที่จะต้องกินยาหลังอาหารทุกมื้อ ทำให้โรคที่เป็นดีขึ้นในตอนแรก แต่หลังจากนั้นจะพบกับสภาพที่หนักกว่าเดิม ดังนั้น ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติท่านนี้จึงได้เตือนพ่อแม่ระวัง "ยาร้าย" ดังต่อไปนี้

10 ยาอันตรายต่อเด็ก ไม่จำเป็นอย่าใช้!!

1. ยาภูมิแพ้ ยาฆ่าเชื้อ และยาแก้แพ้

ทำให้เด็กเรียนหนังสือไม่รู้เรื่องได้ ยิ่งหลายขนานยิ่งมีโอกาสตีกันกับยาชนิดอื่น ความน่ากลัวของยาชนิดนี้อยู่ที่การต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ้าไม่จำเป็นเมื่อแพ้หายแล้วควรหยุดใช้ ในเด็กที่ได้ยาฆ่าเชื้อนาน ๆ ภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอจนป่วยง่าย และยาฆ่าเชื้อบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นไข้ได้เองถ้าใช้ติดต่อกันนาน (Drug fever)

2. ยาสเตียรอยด์

ตัวร้ายสุดมีทั้งแบบ พ่นจมูก พ่นคอ ยากิน และยาทา สเตียรอยด์ที่ว่าเป็นยายอดนิยมที่ถูกจ่ายให้คนไข้ภูมิแพ้มาก โดยฤทธิ์ของมันจะไปปิดกระดูกให้หยุดโต เด็กจะตัวแกร็น และอ้วนฉุ ที่สำคัญคือจะไปทำให้กระดูกผุ ปิดกั้นความสูงของเด็กจนเสียโอกาสไปในเด็กวัยกำลังโต

3. ยาขยายหลอดลม

ยากลุ่มนี้ หากเด็กได้รับมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย คล้ายไฮเปอร์ลามไปถึงใจสั่น ทรมานถึงขนาดเรียนไม่รู้เรื่อง หงุดหงิดง่าย และนอนไม่หลับทั้งคืนได้

4. ยาลดน้ำมูกแบบเมาๆ

ยาน้ำลดน้ำมูกที่นิยมกันมีการใส่แอลกอฮอล์เข้าไปมาก ทำให้รสอร่อย เช่น รสองุ่น รสส้ม จิบเข้าไปแล้ว เด็กจะไม่ตื่นมาโยเย เพราะเมาจากยาที่ผสมแอลกอฮอล์นั่นเอง

5. ยาแก้ปวด

อย่าเห็นพาราเซตตามอลเป็นเรื่องเล่น ๆ ดูเป็นยาปลอดภัยแต่อันตรายเหมือนกัน เพราะถ้าใช้ผิดขนาด เช่น เอาของผู้ใหญ่มาแบ่งครึ่งให้เด็กก็อาจทำอันตรายต่อตับของเด็กได้ ทางที่ดี ควรเลือกยาที่เฉพาะกับเด็กโดยตรงจะดีกว่า

6. ยาลดไข้

ไม่ธรรมดาเหมือนกันโดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟ่นที่เด็กป่วยไข้เลือดออกกินแล้วอาจชักได้ ในเด็กที่มีไข้ยังไม่ทราบสาเหตุไม่ควรให้ยาลดไข้กลุ่ม "เร็วสั่งได้" นี้เพราะมีสิทธิ์ที่จะช็อคได้สูง

7. ยาธาตุ

เด็กน้อยปวดท้องบ่อยมักถูกป้อนด้วยยาธาตุ เอามหาหิงคุ์ทาพุงจนกลิ่นตลบ ในเด็กโรคกระเพาะถ้าได้ยาธาตุน้ำขาวพวกอะลั่มมิลค์บ่อยเกินไปยาจะไปยับยั้งการดูดซึมแร่ธาตุ วิตามิน รวมไปถึงยาอื่น ๆ และการได้ธาตุอลูมิเนียมจากยาน้ำขาวพวกนี้มากไปก็อาจมีผลต่อสมองได้

8. ยาระบาย

ไม่ว่าแบบน้ำ เม็ด หรือยาสวนก้น ต้องดูสุขภาพเด็กให้ดี ถ้ามีอาการเพลีย หรือซึมจากการขาดน้ำอยู่แล้ว ยาถ่ายที่ทำให้ท้องเสียอันตรายถึงช็อคได้ ส่วนในเด็กท้องผูกต้องดูแผลปากทวาร (Anal fissure) ให้ดีก่อนสวนด้วย

9. ยาช่วยนอน

ถ้าเด็กนอนไม่หลับควรหาสาเหตุให้พบเสียก่อน รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเด็ก เช่น ยาแก้โรคสมาธิสั้น โดยการรักษาที่ดีต้องใช้พฤติกรรมบำบัด และกิจกรรมบำบัดควบคู่ไปด้วยจะดีที่สุด

10. วิตามินสังเคราะห์

ในเด็กที่กินอาหารไม่ครบ วิตามินเสริมเป็นตัวช่วยที่ดี แต่ต้องระวังวิตามินประเภทสังเคราะห์อย่างกรดวิตามินเอ วิตามินอี และน้ำมันตับปลาที่มากเกินไปเพราะอันตรายต่อตับเด็กได้


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ยา กับเด็ก

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบเช่นนี้แล้ว ใช่ว่าจะขนยาทิ้งในทันที เนื่องจากยาพวกนี้สะสมอยู่ในตัวเด็กนานนับเดือนนับปี ถ้าหยุดทันที เด็กอาจมีอาการทรุดลงได้ อย่างยาสเตียรอยด์ที่เด็กภูมิแพ้ได้นาน ๆ การหยุดแบบหักดิบจะทำให้ต่อมหมวกไตไม่ทันตั้งตัว และทำงานไม่ทัน อาจกลายเป็นโรคที่ป่วยด้วยต่อมหมวกไตได้" ดังนั้นจึงควรพาลูกๆออกกำลังกาย  ดูแลฟื้นฟูสุขภาพให้มากขึ้นเพื่อลดระดับยาลงเรื่อยๆและหยุดยาได้ในที่สุดค่ะ สำหรับคุณแม่ที่วางแผนมีลูก หรือมีลูกอ่อน ควรวางแผนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของลูกรักค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. อันตรายของยาลดไข้ กินเกินขนาดทำให้ตับม้ามโต

2. ลูกกินยาสีฟันอันตรายไหม? แก้อย่างไรดี!!!

3. เทคนิคการป้อนยาให้เด็กยอมกินยาและข้อควรรู้เรื่องการให้ยาเด็ก

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณข้อมูล  : MGR Online