พัฒนาการทารกอายุ 2 เดือนและวิธีกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม

13 February 2018
7421 view

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เด็ก 2 เดือน

ทารกอายุ 2  เดือน

  • พอเข้าเดือนที่ 2 คุณแม่จะรู้ใจลูกได้ดีขึ้น การป้อนนม การขับถ่าย เริ่มจะเป็นระบบระเบียบมากขึ้น แต่บางครั้งก็ยังอาจมีรายการ “ผิดคิว” ได้บ้าง
  • ลูกจะสามารถแสดงออกทางอารมณ์ให้คุณรับรู้ได้มากขึ้น เขาจะเริ่มแสดงสีหน้าที่มีความสุข ชอบไม่ชอบได้บ้าง ในช่วงนี้ จะเริ่มเห็น รอยยิ้มอย่างมีความหมายของลูกได้ (Social smile) เมื่อเขาเห็นคุณแม่ เด็กจะยิ้มทักทายหรือยิ้มตอบ เด็กจะปัดป่ายแขนขาของเขาไปมาได้ดีขึ้น เป็นการออกกำลังของเขา
  • ระบบประสาทเกี่ยวกับการได้ยิน และการมองเห็น เริ่มจะมีการทำงานสอดคล้องกัน (coordination) ลูกจะหยุดฟังเสียงที่คุ้นเคย และกลอกตาไปทางที่มาของเสียงนั้น ลูกจะเริ่มทำเสียงอืออาในคอ โดยเฉพาะเมื่อมีคนคุยด้วย ลูกจะมองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวช้าๆอยู่ตรงหน้า โดยจะทำได้ในแนวราบจากข้างหนึ่ง ไปอีกข้างหนึ่งได้ก่อน แล้วจึงค่อยเป็นในแนวดิ่ง จากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบน
  • ในช่วงนี้ลูกจะชอบดูดมือเวลาหิว และชอบที่จะมีอะไรอยู่ในปากเสมอๆ เชื่อว่าการทำเช่นนี้ เป็นการที่เด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างใกล้ตัวเขา และรวมไปถึงส่วนต่างๆของร่างกาย (โดยเฉพาะมือ) ของเขา ไม่ควรจะไปคอยดึงเอามือเด็ก ออกจากปากไม่ให้เขาได้ดูด เพราะจะเป็นการไปห้ามการเรียนรู้ของเขา และทำให้เขาเครียดและหงุดหงิด ส่วนการจะให้เด็กได้ดูดมือต่อไปนานๆ หรือ ให้เป็นหัวนมปลอมแทนหรือไม่นั้น คุณควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงข้อดีข้อเสียก่อนตัดสินใจ
  • ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกว่า ไม่ค่อยได้นอนเต็มอิ่ม เพราะต้องคอยตื่นมาป้อนนมลูก ทุก 3 ชั่วโมง ก็จะรู้สึกว่าเริ่มสบายขึ้น เพราะลูกในวัยนี้ จะเริ่มมีการนอนที่ยาวขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังจะตื่นมาให้ป้อนนมอยู่ โดยทั่วไปเมื่อเด็กมี น้ำหนักตัวประมาณ 5 กก. เศษ ขึ้นไป เด็กบางคนอาจหลับได้ติดต่อกันเกือบตลอดคืน โดยไม่ตื่นขึ้นมากวนเลย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกขึ้นมาป้อนนมเหมือนช่วงเดือนแรก ด้วยความห่วงกลัวว่า เขาจะหิว หรือได้นมไม่พอ กลัวลูกจะไม่อ้วน ควรให้เขาได้นอน ตามที่เขาต้องการจะดีกว่า
  • เมื่อนอนคว่ำ ลูกจะเริ่มยกศีรษะขึ้นได้เองบ้างชั่วครู่ และเมื่ออุ้ม ก็จะสามารถชันคอได้ดีกว่าก่อน ส่วนการจัดท่านอนให้ลูกนั้น โดยทั่วไป แนะนำให้นอนหงาย เนื่องจากมีรายงานว่า ในทารกที่นอนคว่ำ มีความเสี่ยงในการที่จะเกิดการเสียชีวิตของเด็ก โดยไม่ทราบสาเหตุ ที่เรียกว่า Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) ได้มากกว่า คุณพ่อคุณแม่ อาจจะกังวลว่า การนอนหงายเสมอๆ อาจทำให้รูปศีรษะแบนไม่สวย ซึ่งก็จะสามารถช่วยได้ โดยการให้เด็กนอนตะแคงตัวซ้ายขวา สลับกันบ้าง และจัดหาหมอนหนุนไหล่ หรือศีรษะที่เหมาะสม
  • คุณพ่อก็มีบทบาทสำคัญ ในการช่วยกันดูแลลูก เพราะคุณพ่อและคุณแม่ จะมีวิธีการตอบสนอง หรือการเล่นกับลูกที่แตกต่างกัน การที่คุณพ่อช่วยดูแลลูกนั้น เป็นการสร้าง “สายใยแห่งรัก” ของครอบครัว ให้แน่นแฟ้นขึ้น
  • ในบางเวลา คุณอาจจะคิดไปถึงอนาคต อาจจะรู้สึกไม่แน่ใจว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นี้ เหมาะสมหรือไม่ เพราะดูลูกก็ยังเล็กมากเหลือเกิน แต่หมอก็อยากจะบอกว่า ไม่มีอะไรจะมีค่า มากกว่าความรักและความเอาใจใส่ ที่คุณพ่อและคุณแม่มีต่อเขา ประสบการณ์ต่างๆ ที่คุณได้จากการเลี้ยงลูก จะช่วยให้คุณทั้งสอง มีวุฒิภาวะมากขึ้น และเข้าใจการใช้ชีวิตคู่มากขึ้น คุณจะเริ่มเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง จากสภาวะคู่รักอันหวานชื่น กลายเป็น คู่ชีวิต ที่จะมีความสุขและทุกข์ร่วมกันไปตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นรากฐานอันสำคัญ ในอนาคตของลูก

 เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team