รู้ทัน เชื้อRSV เชื้อร้ายแรงที่ไม่มีวัคซีน

28 September 2015
21112 view

เชื้อRSV

เนื่องจากไวรัสRSVยังไม่มีวัคซีนป้องกัน คุณแม่ทุกบ้านควรทำความรู้จักกับไวรัส วายร้ายตัวนี้ให้มากขึ้น เพื่อดูแลปกป้องลูกรักของเราให้ห่างไกลจากเชื้อRSV และหากลูกได้รับเชื้อจะได้ดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม 


รู้ทันไวรัส RSV เชื้อร้ายแรงที่ไม่มีวัคซีน
 

ไวรัส RSV เชื้อร้ายแรงที่ไม่มีวัคซีน 

ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบสถิติผู้ป่วยสูงสุดในช่วงฤดูฝน – ต้นฤดูหนาว เป็นเชื้อที่พบมานานตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 แต่ในปี 2558 ได้มีการตรวจพบการติดเชื้อไวรัส RSV เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีเครื่องมือในการตรวจหาเชื้อได้โดยตรงจึงมีรายงานการติดเชื้อชนิดนี้เพิ่มสูงมากขึ้นด้วย เมื่อเชื้อโรคเข้าสูร่างกาย ก่อให้เกิดโรคปอดบวม และหลอมลมอักเสบ มักมีอาการคล้ายไข้หวัด ในเด็กภูมิต้านทานต่ำอาการจะรุนแรง เพื่อความปลอดภัยก่อนถึงจุดอันตรายต่อชีวิตลูก พ่อแม่อย่างเรามาทำความรู้จักกับเชื้อไวรัส RSV อย่างถ่องแท้กันค่ะ

เชื้อไวรัสRSVติดต่อได้อย่างไร 

การติดเชื้อไวรัสRSV เกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะเชื้อแพร่กระจายในอากาศ เพียงการไอ จาม รดกันก็สามารถรับเชื้อ RSV เข้าสูร่างกายได้ทันที และยังติดต่อผ่านสิ่งของที่ใช้ร่วมกันด้วย ได้แก่  ของเล่น อุปกรณ์ในโต๊ะอาหาร

ติดเชื้อไวรัส RSV ต่างจากไข้หวัดอย่างไร จะแยกได้อย่างไร

ในเด็กที่เป็นไข้หวัดอาการแสดงที่พบคือ  มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ กินนมได้อาจมีคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วยสามารถรักษาหายภายใน 5 – 7 วัน แต่ถ้าลูกรักติดเชื้อไวรัส RSV อาการแสดงคือ อาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึมลง ตัวเขียว กินข้าว กินน้ำ กินนมไม่ได้

การตรวจหา เชื้อไววรัส RSV ต้องทำอย่างไร 

แพทย์จะทำการตรวจวินิฉัยโรคจากการเก็บ เชื้อในโพรงจมูกและคอส่งตรวจห้องแล็บเพื่อหาเชื้อไวรัส


รู้ทันไวรัส RSV เชื้อร้ายแรงที่ไม่มีวัคซีนภาพแสดงการเก็บของเหลวในโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อ RSV

ติดเชื้อไวรัส RSV รักษาอย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาRSV โดยตรง และวัคซีนป้องกันยังไม่มีเช่นกัน หากตรวจพบเชื้อ RSV แพทย์จะรักษาตามอาการเน้นพักผ่อนให้เพียงพอ หากกินไม่ได้แพทย์จะพิจารณาให้น้ำเกลือชดเชยทางหลอดเลือดดำ หากพบว่ามีอาการหอบ เหนื่อย ต้องได้รับออกซิเจน ในรายที่ไอมากจนหอบเหนื่อยจะได้รับยาสูดพ่นไอละอองฝอย เพื่อบรรเทาอาการไอและอาการหอบเหนื่อย เด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยทั่วไปอาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน  7 – 14  วัน

จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสRSV ได้อย่างไร 

ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโรค RSVโดยตรง แต่ผู้ปกครองสามารถดูแลป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้ด้วย การล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะในเด็กวัยอนุบาลต้องเคร่งครัดการล้างมือ ก่อนทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อน – หลัง รับประทานอาหาร  ต้องทำความสะอาดของเล่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หากมีเด็กป่วยต้องแยกเด็กออกจากเด็กปกติทั้งในบ้านและโรงเรียน  งดพาเด็กไปในที่สาธารณะและบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน

เชื้อโรค RSV ร้ายเเรงมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจสุขภาพของลูก ฝึกฝนการล้างมือให้ติดเป็นนิสัย เพื่อเป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อ RSV รวมถึงเชื้ออื่นๆด้วย หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับการเจ็บป่วยควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคและรักษาได้ตรงตามอาการและโรคที่ลูกเป็น

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. วัคซีนในเด็กมีอะไรบ้าง

2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

3. วัคซีนเสริม

เรียบเรียงโดย  Mamaexpert Editorial Team