ตรวจช่องคลอด เจ็บไหม? ทำไมคุณแม่หลังคลอดต้องตรวจ

02 May 2022
1762 view

ตรวจช่องคลอด

.

.

เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านคงกังวลในเรื่องของการตรวจภายในหลังคลอด เพราะว่ามีความเขินอายและกลัวว่าจะเจ็บนั่นเอง ซึ่งปกติแล้วคุณหมอจะนัดให้กลับมาตรวจสุขภาพหลังคลอด เพื่อที่จะได้ตรวจหาความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่นั่นเอง โดยการตรวจช่องคลอดเจ็บหรือไม่ แล้วทำไมต้องตรวจหลังคลอด เรามีคำตอบมาให้กันแล้ว

ตรวจช่องคลอด เจ็บหรือไม่

การ ตรวจช่องคลอด เป็นสิ่งที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยกล้าที่จะตรวจ เนื่องจากเขินอายหรือกังวลกลัวว่าจะเจ็บ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ ถึงแม้ว่าการ ตรวจภายใน จะมีความรู้สึกเจ็บนิดๆ อยู่บ้างแต่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญ ตรวจเช็คเป็นประจำเพื่อหาความผิดปกติภายในของผู้หญิง โดยการตรวจหากเป็นผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แพทย์จะทำการสอบถามก่อนเข้ารับการตรวจ และเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่เล็กที่สุด แต่ก็อาจจะยังมีความรู้สึกเจ็บ ตึงๆ หน่อย ขณะที่แพทย์ทำการสอดเครื่องมือเข้าไป หลังจากที่ตรวจเสร็จแล้วอาการเจ็บเหล่านั้นก็จะหายไปทันที

นัดตรวจหลังคลอดภายในกี่วัน

การตรวจหลังคลอดเป็นสิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญมาก หลังจากที่คุณแม่คลอดก่อนกลับบ้าน แพทย์จะทำการนัดให้คุณแม่กลับมาตรวจช่องคลอด อีกครั้งภายใน  1 เดือนหรือ 6 สัปดาห์ แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอาการคลอดผิดปกติหรือมีปัญหาโรคประจำตัวบางอย่างแพทย์จะนัดตรวจเร็วขึ้นประมาณ  4 สัปดาห์หลังจากที่คลอด โดยการตรวจหลังคลอดเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด เพราะการตรวจสุขภาพหลังคลอดนั้นมีประโยชน์มาก ซึ่งการตรวจหลังคลอดนี้ แพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติภายใน หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังคลอด และหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แพทย์ก็จะแนะนำวิธีการคุมกำเนิดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับคุณแม่

สิ่งที่หมอจะตรวจมีอะไรบ้าง

เนื่องจากสุขภาพของคุณแม่หลังคลอดนั้นสำคัญไม่แพ้กับระหว่างที่ตั้งครรภ์เลย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะละเลยการมาตรวจสุขภาพหลังคลอด โดยแพทย์จะทำการตรวจเช็คดูอาการต่างๆ ของคุณแม่หลังคลอดดังนี้

1.ตรวจแผลคลอด

โดยปกติแล้วแผลผ่าคลอดหรือแผลจากการคลอดธรรมชาติ จะใช้เวลาหลายสัปดาห์ที่จะหายจากอาการบวมหรือปวดแผล ซึ่งคุณแม่สามารถทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ การตรวจหลังคลอดแพทย์จะทำการตรวจดูรอยแผลและความผิดปกติของแผลว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ 

2.ตรวจดูมดลูกเข้าอู่หรือยัง

เนื่องจากว่าในช่วงระยะเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่า หลังคลอดแพทย์จะทำการ ตรวจภายใน ดูว่ามดลูกเข้าอู่หรือยัง ซึ่งส่วนใหญ่หลังคลอดมดลูกจะเข้าอู่ประมาณ 5 – 6 สัปดาห์ เมื่อไปตรวจช่องคลอดแพทย์จะทำการใช้นิ้วสอดเข้าไปภายในช่องคลอดและใช้มืออีกข้างคลำบริเวณหน้าท้องเพื่อหาความผิดปกติ หากพบว่ามีก้อนบริเวณหน้าท้องแสดงว่ามดลูกยังไม่ทันเข้าอู่ หากคุณแม่อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ควรบริหารร่างกายและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น

3.ตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ

นอกจากการ ตรวจช่องคลอด หลังคลอดแล้ว แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพร่างกายของคุณแม่อื่นๆ รวมถึงโรคที่เป็นระหว่างตั้งครรภ์ด้วย เพื่อหาความผิดปกติ โดยแพทย์จะทำการตรวจหาโรคต่างๆ เช่น 

  • โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งหลังคลอดแพทย์จะทำการตรวจดูอีกครั้งว่าเบาหวานที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้นดีขึ้นหรือยัง 
  • ตรวจสภาวะจิตใจ เนื่องจากว่าคุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด รวมถึงความกังวลในการเลี้ยงลูก ทำให้มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความเครียด โดยแพทย์จะทำการพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติของคุณแม่ ถามไถ่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน การเลี้ยงลูก หรือมีปัญหาในการเลี้ยงลูกหรือไม่ และมีคนช่วยเลี้ยงไหม แพทย์จะได้ช่วยหาทางออก

เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนไปตรวจ

อย่างที่คุณแม่ทราบดีว่าการตรวจสุขภาพหลังคลอดนั้นสำคัญมาก ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด โดยก่อน ตรวจช่องคลอด คุณแม่ควรเตรียมความพร้อมให้ดี เพื่อความสะดวกในการตรวจ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการเข้าตรวจหลังคลอด
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด ก่อนเข้ารับการตรวจ
  • ในกรณีที่มีประจำเดือน หรือปวดท้องประจำเดือนมากจนทนไม่ไหวควรรีบมาพบแพทย์ก่อน ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
  • ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบายๆ อย่างกระโปร่ง และไม่ควรสวมใส่กางเกงที่รัดจนเกินไป
  • ควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ปวดปัสสาวะขณะ ตรวจภายใน
  • ก่อนวันเข้ารับการ ตรวจช่องคลอด คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอทำจิตใจให้สบายๆ

สำหรับคุณแม่ที่มีอาการผิดปกติหลังคลอด ไม่ควรรอจนถึงเวลานัดควรไปพบแพทย์ก่อนเวลา เพื่อที่จะได้ตรวจหาความผิดปกติและรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยการ ตรวจช่องคลอด หลังคลอดนั้นสำคัญมาก เป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม ควรไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจหาความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง

.

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. รีแพร์ช่องคลอด กระชับความฟิต

2. ตรวจหลังคลอด..เรื่องจำเป็นที่แม่ทุกคนต้องรู้

3. เชื้อราในช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน แม่ท้องต้องตรวจรักษาอย่างไร

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team