6 ความต้องการด้านจิตใจของเด็ก ที่พ่อแม่ต้องให้

30 March 2017
9968 view

ความต้องการด้านจิตใจของเด็ก

ความต้องการด้านจิตใจของเด็กนั้นมีความแตกต่างกันไปบ้างตามวัยของเด็ก แต่พอจะสรุปได้กว้างๆ ว่า สิ่งต่อไปนี้มีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการสำหรับเด็กทุกคน คือ

1. ความรักความอบอุ่น

เด็กรู้สึกอยากให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูรักตน รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการ มีค่าสำหรับพ่อแม่ รู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับ เด็กไม่ควรรู้สึกว่าพ่อแม่รังเกียจตน ไม่ชอบ ลำเอียง ปฏิเสธหรือไม่เป็นที่ต้องการ เป็นส่วนเกิน จำใจต้องเลี้ยงดูตน และไม่ควรรู้สึกมีปมด้อยหรือน้อยเนื้อต่ำใจต่างๆ นาๆ เจตคติหรือท่าทีของผู้ใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อจิตใจของเด็ก เกี่ยวกับเจตคติของพ่อแม่ต่อลูก สิ่งที่สำคัญที่จะต้องกล่าวถึง คือ เด็กต้องการความรักอย่างเหมาะสม ไม่ใช่รักมากอย่างไม่มีขอบเขต เช่น ตอมใจทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผลจนทำให้กลายเป็นคนตามใจตัวเองตลอดเวลาไม่สามารถอดทนต่อภาวะที่คนปกติธรรมดาควรจะอดทนได้ จนกลายเป็นข้อบกพร่องทางบุคลิกภาพไป

2.การกระตุ้นอย่างเหมาะสม

การกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมนั้นขึ้นกับวัยของเด็ก เช่น วัยทารกแรกเกิดก็ต้องการ การอุ้ม การสัมผัส การยิ้ม การพูดคุยด้วยเพื่อให้ได้ยินเสียง พอโตขึ้นก็ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น การเล่น การพูดคุย ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยก็จะช่วยกระตุ้นได้ดี สำหรับเด็กในขวบปีแรก เพื่อกระตุ้นการได้ยิน การใช้สายตา ควรใช้ของเล่นที่เคลื่อนไหวที่มีสีสด และมีเสียงพอโตขึ้นอีกเด็กจะต้องการการกระตุ้นเพื่อลดการเคลื่อนไหว ควรใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น การใช้นิ้วมือ การใช้มือเท้า และอื่นๆ การกระตุ้นต่างๆ นี้ผลทางจิตใจที่ได้คือเด็กรู้สึกได้รับความรัก ความสนใจ และที่สำคัญ คือ ได้กระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกสนุก อยากทดลองอยากลองทำ ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจ กล้าแสดงออกตามไปด้วย

3. ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย (Security and protection)

ความรู้สึกมั่งคงปลอดภัยของเด็กได้มาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ครอบครัวสงบสุข เด็กจะไม่รู้สึกกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง โดยไม่มีโรคทางกายเป็นเหตุแต่กลับสัมพันธ์กับเวลาเด็กเกิดรู้สึกเครียด รู้สึกกลัวที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทำร้ายร่างกายกัน หรือกำลังจะหย่าร้างกัน นอกจากนั้นเด็กก็ยังต้องการความรู้สึกว่าผู้ใหญ่สามารถปกป้องตนได้ ไม่ปล่อยให้เกิดอันตรายกับตน เด็กควรได้รับการปกป้องจากอันตรายทางกาย เช่น อุบัติเหตุต่างๆ และควรได้รับการปกป้องไม่ให้รับความกระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง (psychic trauma), เช่น ภาพอุบัติเหตุที่น่าสยดสยองมาก ภาพภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรงน่าสพึงกลัว ภาพเกี่ยวกับทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็ก และควรเตรียมตัวเตรียมใจให้เด็กสำหรับเหตุการณ์สำคัญๆเช่นการมีน้องใหม่ การผ่าตัดเป็นต้น

4.คำแนะนำและการสนับสนุน (Guidance and support)

เด็กต้องการคำแนะนำหรือคำชี้แนะจากผู้ใหญ่ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น บทบาทที่เหมาะสมตามเพศของเด็กหญิงหรือเด็กชาย การปฏิบัติตัวในสังคม ค่านิยม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ และควรให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่เห็นเหมาะสม เช่น กิจกรรมที่เด็กต้องการจะทำ อาจช่วยด้านการเงินหรือช่วยหาอุปกรณ์ช่วยให้ความคิด

5. ความสม่ำเสมอ และการมีขอบเขต (Consistency and limits)

ทั้ง 2 อย่างมีความสำคัญที่จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้หรือไม่ได้ ไม่สับสนทั้งความคิดและการปฏิบัติ กฎเกณฑ์ที่ใช้ควรจะมีเหตุผลและมีการปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ไม่ให้ใส่รองเท้าเข้าในบ้าน เพราะทำให้บ้านสกปรก ก็ควรเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่ใช่เวลามีเด็กรับใช้ใส่ได้ เวลาแม่ต้องทำความสะอาดเองใส่ไม่ได้หรือวันหนึ่งไม่ยอมให้ทำสิ่งหนึ่งแต่พออีกวันทำสิ่งเดียวกันก็ยอมให้ทำได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการเตะบอลล์เล่นในบ้าน การฉีกกระดาษจากหนังสือ การขีดเขียนที่ฝาผนังบ้าน 


ผู้ใหญ่บางคนไม่แน่ใจว่าอะไรควรจะห้ามเด็ก อะไรไม่ควรห้าม กลัวจะตามใจมากไป หรือเข้มงวดเกินไปก็ให้ถือหลักง่ายๆ ว่ามี 3 อย่างที่เด็กทำไม่ได้แน่นอน คือ

  1. การทำร้ายตัวเอง (รวมทั้งการเล่นที่เป็นอันตราย เช่น ของมีคม)
  2. การทำร้ายผู้อื่น
  3. การทำลายสิ่งของ

6.ให้โอกาสใช้พลังงานในทางสร้างสรรค์

วัยเด็กเป็นวัยที่มีกำลังงานในตัวมาก เด็กต้องได้รับโอกาสให้ใช้พลังงานไปในทางสร้างสรรค์ เช่น การเล่น การออกกำลังกายในเกมกีฬาต่าง ๆ การมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสม ถ้าผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญข้อนี้อาจต้องการให้เด็กอยู่อย่างสงบเรียบร้อยเสมอ อาจทำให้กลายเป็นเด็กเก็บกด ไม่กล้าแสดงออก เชื่องซึมหรือเฉี่อยชา ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ของขวัญ 5 อย่างที่ลูกอยากได้จากพ่อแม่มากที่สุด

2. 5 สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำ เพื่อให้ลูกเป็นเด็กมีความมั่นใจในตัวเอง

3. เทคนิคเสริมสร้างความจำง่ายๆ ให้ลูกสมองดี หัวไวพร้อมได้ภูมิคุ้มกัน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

ขอบคุณบทความ  : http://med.mahidol.ac.th  โดย  ศ.เกียรติคุณ พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ