ขั้นตอนการเก็บสเต็มเซลล์จากสายสะดือเมื่อแรกคลอด

17 March 2012
1162 view

สเต็มเซลล์สำคัญอย่างไร

นานาประเทศให้ความสนใจและตื่นตัวกับการทดลองเรื่องสเต็มเซลล์ นักวิจัยทางการแพทย์เชื่อว่าการรักษาด้วยสเต็มเซลล์มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงการรักษาโรคของมนุษย์อย่างสำคัญ มีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์เต็มวัยหลายชนิดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกถ่ายไขกระดูกซึ่งใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในอนาคต นักวิจัยทางการแพทย์คาดว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่มาจากการวิจัยสเต็มเซลล์เพื่อรักษาอีกหลายโรค ได้แก่ โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน  การบาดเจ็บของไขสันหลังโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงแอลเอเอส โรคมัลติเพิล สเกลอโรซิส และการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ตลอดจนความบกพร่องและสภาพอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังต้องติดตามผลการทดลองในอนาคตอีกต่อไป  คุณแม่หลายๆท่านเลือกเก็บ สเต็มเซลล์จากสายสะดือ ลูกเมื่อแรกคลอด คุณที่สนใจเก็บสเต็มเซลล์ปัจจุบันทำได้ง่ายมากเพียงแจ้งความต้องการกับสูติแพทย์ ทางโรงพยาบาลก็จะติดต่อกับทางธนาคารสเต็มเซลล์ให้มาเก็บในวันเวลาที่คลอดค่ะ ขั้นตอนการเก็บ มีดังต่อไปนี้คะ

ขั้นตอนการคัดแยกและการแช่แข็ง สเต็มเซลล์จากสายสะดือ

ขั้นตอนที่  1  หลังจากคุณแม่คลอดบุตรแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บเลือดจากสายสะดือ ภายหลังการเจาะเก็บ เลือดสายสะดือจะถูกบรรจุอยู่ในชุดเก็บเลือดมาตรฐานที่มีการควบคุมอุณหภูมิเป็นอย่างดี หลังจากทำการลงทะเบียนและกำหนดรหัสด้วยระบบบาร์โค้ด ยูนิตเลือดสายสะดือและตัวอย่างเลือดมารดาจะถูกบันทึกรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและตรวจสอบคุณลักษณะเบื้องต้นอย่างละเอียด

ขั้นตอนที่  2   ถุงบรรจุเลือดจากสายสะดือจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยก เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์จำนวนมากที่สุด หลังจากนั้นค่อยๆ เติมน้ำยารักษาสภาพเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากอุณหภูมิที่ใช้สำหรับแช่แข็ง ขบวนการเหล่านี้ดำเนินการในห้องที่มีการควบคุมสภาวะแวดล้อมอย่างดีในระดับห้องสะอาด ภายใต้ตู้ปลอดเชื้อชีวภาพ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม

ขั้นตอนที่  3  สเต็มเซลล์ที่แยกได้จะถูกบรรจุอย่างดีในถุงและอุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาวะแช่แข็งที่เย็นจัด

ขั้นตอนที่  4  เข้าสู่ขั้นตอนการทำให้ตัวอย่างแข็งตัว ด้วยเครื่องลดอุณหภูมิอัตโนมัติ ที่มีการกำหนดอัตราการลดลงของอุณหภูมิอย่างช้าๆ ตามโปรแกรมที่กำหนด ก่อนถูกเก็บรักษาในระยะยาวโดยการแช่แข็งภายใต้ชั้นไอระเหยของไนโตรเจนเหลวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -150 องศาเซลเซียส ภายในถังเก็บสุญญากาศขนาดใหญ่ซึ่งมีการควบคุม ติดตาม และบันทึกอุณหภูมิภายในถังด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ขั้นตอนที่  5  ตัวอย่างเลือดของมารดาจะได้รับการทดสอบหาหมู่เลือด และสภาวะการติดเชื้อต่างๆ เช่น การติดเชื้อซิฟิลิส การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

ขั้นตอนที่  6   ตัวอย่างเลือดจากสายสะดือจะได้รับการทดสอบเพื่อตรวจหาหมู่เลือด เอ-บี-โอ และอาร์เอช ชนิดของเฮโมโกลบินเพื่อตรวจคัดกรองทาลัสซีเมีย จำนวนสเต็มเซลล์ และสภาวะการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

ขั้นตอนที่  7   เมื่อมีความต้องการนำสเต็มเซลล์ที่ฝากไว้เพื่อการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ ไครโอวิวา จะประสานงานกับแพทย์และโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องถึงกำหนดการของการรักษา รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการจัดสเต็มเซลล์ที่เก็บไว้ โดยเมื่อพร้อม ยูนิตของสเต็มเซลล์จะถูกบรรจุในอุปกรณ์ขนส่งพิเศษ ที่เรียกว่า “ไครโอชิปเปอร์ (Cryoshipper)” ซึ่งจะบรรจุไนโตรเจนเหลวไว้และสามารถเก็บรักษาอุณหภูมิที่ใช้แช่แข็งไว้ต่ำกว่า – 150 องศาเซลเซียสได้ตลอดระยะทาง จากห้องปฏิบัติการไปจนถึงโรงพยาบาล พร้อมทั้งมีระบบบันทึกอุณหภูมิอย่างต่อเนื่อง เก็บได้นาน 20 ปี

การเก็บสเต็มเซลล์จากสายสะดือนั้นไม่ยาก แต่ต้องมีคุณทรัพย์มากพอ แนะนำครอบครัวที่มีประวัติโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย  ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมไว้จะเป็นการดีนะคะ  สอบถามและปรึกษาเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมที่แผนกฝากครรภ์ที่คุณแม่ใช้บริการอยู่เพื่อประกอบการตัดสินใจค่ะ