ป้อนกล้วย ป้อนอาหารก่อน6เดือน เด็กเสี่ยงลำไส้อุดตัน!กระเพาะแตก!

05 July 2015
66272 view

ป้อนกล้วย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ป้อนกล้วยเด็ก

ป้อนกล้วย หรือให้อาหารก่อน6เดือนเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตอย่างไร

หลายท่านคงเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กเสียชีวิตด้วยลำไส้อุดตัน ลำไส้แตก กระเพาะอาหารแตก กระเพาะอาหารทะลุในเด็กเล็กเนื่องจากได้รับอาหารเร็วเกินไป ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องที่คุณแม่ถกเถึยงและวีนแตกกันอยู่ร่ำไปในโลกออนไลน์ ว่า  …  ลูกฉันกินไม่เห็นเป็นไร ลูกของฉันอย่ายุ่ง …  และอีกส่วนก็มาจากคุณย่าคุณยายเลี้ยง  โดยมีคำกล่าตามท้ายมาเสมอๆ คือ ยายเลี้ยงลูกหลานมาก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น ซึ่งมันก็จริงนะคะเด็กที่โชคดีก็รอด แต่ถ้าลูกคุณโชคไม่ดีขึ้นมาล่ะ??? บ่อยครั้งที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งเรื่องเด็กกินกล้วยครูดแล้วกระเพาะแตกตายเป็นที่น่าเศร้าใจมีหลายๆเคส ด้วยกันเช่น

ป้อนกล้วย สุดอันตรายดังเคสตัวอย่างเหล่านี้

1.ป้อนกล้วยเด็ก3เดือน 
ข่าวคุณยายวัย 60 ป้อนกล้วยน้ำว้าครูดบดละเอียดหลานกระเพาะแตก เสียชีวิต

เด็ก 3 เดือน ป้อนกล้วยครูดวันละ 2 ลูก วันแรกผ่านไปเด็กท้องอืดไม่ถ่ายแต่ยังไม่มีอะไรผิดปกติ วันที่ 2 ป้อนยังไม่ทันเสร็จ อ๊วกแตก ท้องโป่ง เด็กตาเหลือก รีบนำส่งโรงพยาบาล หมอเอ๊กซเรย์พบว่ากระเพาะอาหารแตกรีบผ่าตัดด่วน แต่สุดที่จะยื้อชีวิตหนูน้อยไว้ได้ ใครผิด!! ใครเสียใจ!! ลูกใคร!!  เคสนี้ยังมีแอบโทษหมอด้วยว่า ช่วยลูกช่วยหลานไว้ไม่ได้  … แท้ที่จริงแล้วความผิดอยู่ที่ใคร เด็กจะรอดหรือไม่ ครอบครัวรู้ดี เป้นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เพราะคุณย่าคุณยายต่างก็ให้เหตุผลเดียวกัน ว่า … ฉันก็เลี้ยงพ่อแม่มันมาแบบนี้ ก็เห็นโตๆกันมา ไม่เป็นอะไร … วันนี้มีหลาน รักหลาน ก็เลี้ยงเหมือนที่เคยเลี้ยง ยายผิดตรงไหน ยายก็รักหลาน

2. ป้อนกล้วย เด็ก 2 เดือน 15 วัน
ข่าวสำลักกล้วยครูด เสียชีวิต

เคสนี้ คุณแม่เป็นคนป้อนเองค่ะ ด้วยประสบการณ์คุณแม่มือใหม่ ผู้เขียนจำได้ดี เพราะคุณแม่โทรปรึกษาการเลี้ยงลูกอยู่เป็นประจำ และสอบถามถึงการให้อาหารเสริมด้วย ทางโรงพยาบาลแนะนำเลี้ยงนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน คุณแม่มือใหม่เล่าว่า คุณย่ารบเร้าสั่งให้ป้อน เป็นลูกสะใภ้ จำใจขัดไม่ได้ มีปากเสียงกันบ่อยครั้ง  คุณแม่มือใหม่จัดการป้อนกล้วยครูดบดละเอียดให้กับลูกน้อย เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในทันที ลูกสำลักกล้วยครูด อุดกั้นทางเดินหายใจ แม่รีบนำลูกส่งโรงพยาบาล แต่ไม่ทันการเพราะสมองของลูกน้อยได้ขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ไม่เสียชีวิต แต่กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา น่าเศร้าใจยิ่งนัก

ป้อนกล้วยเด็ก 7 วันเสียชีวิต

ข่าวคุณแม่ป้อนกล้วยลูกวัย7วันเสียชีวิต เนื่อจากกลัวลูกจะหิว คิดว่าที่ลูกร้องเพราะไม่อิ่ม จึงนำกล้วยมาป้อน และคนในครอบครัวสนับสนุนให้ป้อน 

เรื่องไม่กล้วยเมื่อป้อนกล้วยเด็กก่อนเวลาอันควร 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับทารกจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ได้ตกเป็นข่าวดัง ด้วยเหตุนี้เองกุมารแพทย์จึงแนะนำให้เริ่มอาหารในเดือนที่ 4 – 6 เดือน แต่ดีที่สุดเมื่ออายุ 6 เดือน เพราะการทำงานของระบบย่อยอาหาร น้ำย่อยในกระเพราะพร้อมที่จะย่อยอาหารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่มากขึ้นกว่านมแล้วหลัง 6 เดือน การให้อาหารเด็กที่ถูกวิธีและปลอดภัยมีคำแนะนำไว้ดังนี้

อายุ 0-6 เดือน
นมแม่อย่างเดียว น้ำไม่จำเป็นเพราะในสัดส่วนของน้ำนม มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว หากไม่มีนมแม่ให้ดื่มผสม

อายุ6 เดือนขึ้นไป
อาหารปั่นเหลว 1 มื้อเท่านั้น หลักการที่ถูกต้องควรเริ่มข้าวก่อน หลายๆคนเลือกที่จะเริ่มกล้วยไม่ผิดค่ะ แต่เด็กอาจติดหวานจากรสกล้วยจนไม่ยอมทานข้าว กลายเป็นเด็กทานยากได้ ( แต่ไม่ทุกคน )

อายุ 7 – 8  เดือน
อาหารบดละเอียด 1 มื้อ และเริ่มผลไม้ได้แนะนำแอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก ผลไม้ที่มีเนื้อแข็งแนะนำให้นึ่งก่อนเพื่อง่ายต่อการย่อยและการดูดซึม

อายุ 9  –  12 เดือน
อาหารบดหยาบ วันละ 2 มื้อ แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินอาหารบดหยาบๆได้หรือไม่ ถ้าลูกเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปาก แสดงว่าลูกกินได้ แต่ถ้ายังกินไม่ได้อย่าบังคับนะคะ ให้ลูกกินบดละเอียดเหมือนเดิมแต่ไม่เหลวมากไปก่อน แล้วเริ่มในเดือนที่ 10 -11 หรือจนกว่าลูกสามารถรับได้

12 เดือนขึ้นไป
อาหารปกติเน้นอาหารอ่อน วันละ 3 มื้อ  ยังไม่แนะนำให้ปรุงรสชาติอาหาร และไม่แนะนำให้รับประทานขนมทุกชนิด ถึงแม้ว่าจะเป็นขนมสำหรับเด็กก็ตามเพราะอาจทำให้เด็กติดรสชาติของขนม จนไม่ยอมรับประทานอาหารกลายเป็นเด็กทานยาก เลี้ยงยาก และขาดสารอาหารที่สำคัญต่อสมองในที่สุด

ท้ายที่สุดนี้ เรื่องการรับประทานอาหาร อาจยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันว่าเริ่มเมื่อไหร่ คุณแม่ทุกท่านที่ได้อ่านเรื่องราวนี้แล้วคงเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่า จะป้อนอาหารมื้อแรกของลูกน้อยเมื่อไหร่ดี  ใจแข็งและมีจุดยืน หากปู่ย่าตายาย ไม่เข้าใจ วันฉีดวัคซีน พาปู่ ย่า ตา ยาย ไปด้วยเลย กุมารแพทย์มีคำแนะนำและวิธีคุยให้เปลี่ยนความคิดและเข้าใจมากขึ้นได้ค่ะ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team